เดี๋ยวนี้จะซื้อของสักชิ้นเราอาจต้องคิดมากกว่าเดิม ว่าสิ่งที่เราซื้อมาทำร้ายสิ่งแวดล้อมและโลกมากน้อยแค่ไหน สอดคล้องกับแนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลียนเนียล ที่ให้ความสำคัญต่อการบริโภคที่ดี หรือ Well Being Consumption คือ การบริโภคที่จะคำนึงถึงสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
มีตัวอย่างการสำรวจผู้บริโภคอายุ 15-45 ปี ของ WWF ปี พ.ศ. 2560 ในประเทศอินโดนีเซีย พบว่าผู้บริโภค 63% เต็มใจที่จะใช้หรือซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืน 61% รู้สึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 52% รู้สึกพอใจที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีอีก 53% ที่สะท้อนว่ามีปัญหาในการหาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คำนึงถึงความยั่งยืนในตลาด
ซึ่งจากทั้ง 4 การสำรวจนี้ แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์และบริการที่คิดถึงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม เริ่มมีพื้นที่มากขึ้นในตลาดอินโดนีเซีย และเป็นโอกาสของภาคธุรกิจ
ขณะเดียวกันโลกก็เริ่มมีการพูดถึงการเปลี่ยนผ่านจากจุดมุ่งหมายเดิมที่มุ่งเน้นการเติบโตทาง GDP และความร่ำรวย สู่การไปข้างหน้าของโลกในแบบใหม่ นั่นก็คือ GNH (Gross National Happiness) หรือ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ที่หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ คือ การรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ นั่นเอง
ทำให้คำว่า “ความยั่งยืน” กลายเป็นไฮไลท์ใหม่ในทุกวงการท่ามกลางทรัพยากรที่ลดลง Sustainable Sourcing หรือ การจัดหาทรัพยากรอย่างยั่งยืน ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่โลกกำลังให้ความสำคัญไม่แพ้กัน
Sustainable Sourcing เป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับกลไกในการจัดหาวัตถุดิบ หรือ กระบวนการในการได้มาซึ่งสินค้า วัสดุ หรือบริการต่างๆ ที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
ซึ่งจะดูแลตรวจสอบวงจรชีวิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การสกัดวัตถุดิบจนถึงการกำจัด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การจะมาเป็นสินค้าหนึ่งชิ้น เช่น เนื้อวัว 1 กิโลกรัม เนื้อวัวนี้มาจากที่ไหน วิธีการเลี้ยงเป็นอย่างไร สิ่งที่วัวกินคืออะไร และการขนส่งเนื้อวัว 1 กิโลกรัมนี้มาสู่จานอาหารปล่อยคาร์บอนไปแล้วเท่าไร
นอกจากนี้ Sustainable Sourcing ยังครอบคลุมไปถึงแนวทางการผลิตสินค้าที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางสังคม และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นอีกหนึ่งคำที่ผลักดันให้ภาคธุรกิจและผู้ผลิต ต้องหาวัตถุดิบจากแหล่งที่ไม่สร้างผลกระทบต่อโลก
ซึ่งในการจัดหาอย่างยั่งยืน มีหลักการสำคัญในการพิจารณาอยู่หลายข้อด้วยกัน
ข้อแรก คือ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
การจัดหาอย่างยั่งยืนพยายามที่จะลดรอยเท้าทางนิเวศวิทยา หรือ Carbon Footprint ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการสกัดวัตถุดิบ นับเป็นสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงในเรื่อง Sustainable Sourcing
ซึ่งรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประหยัดน้ำและพลังงาน ไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการปล่อยมลพิษและการสร้างของเสีย เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้
ด้วยการเลือกซัพพลายเออร์และผู้ผลิตที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นแหล่งวัตถุดิบที่ใช้พลังงานหมุนเวียน หรือใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ตามหลัก Circular Economy
ข้อที่สอง ความเสมอภาคทางสังคม
การจัดหาอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญในมิติของแรงงานที่เป็นธรรมและสวัสดิการของแรงงานในระบบ ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงสภาพการทำงานที่ปลอดภัย ค่าจ้างที่เป็นธรรม ไม่มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ
เราอาจเคยเห็นข่าวกันหลายครั้งที่มีการเปิดโปงโรงงานผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมา กัมพูชา ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน กดขี่แรงงาน และอาจร้ายแรงไปจนถึงการค้ามนุษย์
อาจเรียกได้ว่า Sustainable Sourcing เป็นเหมือนมาตรฐานเพื่อให้ผู้ผลิตเช็กว่า ซัพพลายเออร์มีการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ และจะต้องมีการพัฒนาทักษะ ความสามารถ และให้โอกาสคนทำงานในอุตสาหกรรม หรือระบบการผลิตมีโอกาสในการพัฒนาตัวเอง พร้อมๆ กับการที่ธุรกิจนั้นๆ จะต้องสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นด้วย
ข้อที่สาม ศักยภาพทางเศรษฐกิจ
ถึงแม้จะให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และความเสมอภาคทางสังคม แต่การจัดหาอย่างยั่งยืน ก็ยังต้องให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ต้องยืนอยู่บนหลักของการลดผลกระทบเชิงลบต่อชุมชนและคนรุ่นหลัง ทำให้การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น
แต่ในปัจจุบันก็มีหลายธุรกิจที่เริ่มต้นจากคอนเซ็ปต์ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า อย่าง Swoop Buddy และ Loopers สตาร์ตอัปที่ก่อตั้งขึ้นมาจากการเล็งเห็นปัญหา Fast Fashion
มาถึงจุดนี้อาจจะสรุปได้ว่า Sustainable Sourcing มุ่งเน้น 3 ด้านใหญ่ คือ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความเสมอภาคทางสังคม และศักยภาพทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดหาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง องค์กรต่างๆ บริษัท และผู้ผลิต อาจจะต้องออกแบบทั้งกลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติของตัวอย่างในหลายๆ ด้าน ดังนี้
1.ความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน
องค์กรติดตามห่วงโซ่อุปทานของตนเพื่อระบุความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น มีการแจ้งที่มาของวัตถุดิบ มีการประเมินแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของซัพพลายเออร์ หรือแหล่งวัตถุดิบที่เราหามา ถ้ายังจำตัวอย่าง เนื้อวัว 1 กิโลกรัมได้ ร้านสเต๊ก หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเนื้อวัว อาจจะต้องตรวจสอบให้ได้ว่า เนื้อวัวนี้มาจากที่ไหน วิธีการเลี้ยงเป็นอย่างไร สิ่งที่วัวกินคืออะไร และการขนส่งเนื้อวัว 1 กิโลกรัมนี้มาสู่จานอาหาร ปล่อยคาร์บอนไปแล้วเท่าไร
2.การประเมินซัพพลายเออร์และการมีส่วนร่วม
องค์กรต่างๆ หรือผู้ผลิตต้องประเมินและคัดเลือกซัพพลายเออร์ หรือแหล่งวัตถุดิบ ตามผลงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม อาจกำหนดให้ซัพพลายเออร์ หรือแหล่งวัตถุดิบปฏิบัติตามมาตรฐาน หรือการรับรองด้านความยั่งยืนที่เฉพาะเจาะจง และร่วมกันวางแผนได้ เช่น เนื้อวัวจะต้องผ่านการเลี้ยงดูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบบำบัดน้ำ หรือมีการนำของเสียที่เกิดจากการเลี้ยงวัวไปทำเป็น Biogas ที่สะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในการได้มาของเนื้อวัวที่เป็นวัตถุดิบ
3.การวิเคราะห์วงจรชีวิต
องค์กรประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิต ซึ่งการวิเคราะห์วงจรชีวิตจะช่วยในเรื่องของการปรับปรุงธุรกิจการผลิตให้ดีขึ้นด้วย เช่น การใช้วัสดุที่ยั่งยืนมากขึ้น การออกแบบการผลิต เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตมากขึ้น เช่น การออกแบบขวดน้ำไร้ฉลาก ที่ประหยัดทั้งต้นทุนในการแยกประเภทพลาสติกที่ผลิตขวด ฝา และฉลากที่ทำมาจากพลาสติกคนละชนิด และยังง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล
4.การทำงานร่วมกันและการเป็นหุ้นส่วน
ในที่นี้อาจพูดได้ว่า องค์กรต่างๆ อาจร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงซัพพลายเออร์ ลูกค้า องค์กรพัฒนาเอกชน และสมาคมอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกันและแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้สามารถช่วยจัดการกับความท้าทายด้านความยั่งยืนที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เห็นแนวทางการจัดหาที่ยั่งยืนไปในทิศทางเดียวกัน
5.นวัตกรรมและเทคโนโลยี
องค์กรต่างๆ ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อระบุและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และแนวปฏิบัติที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความยั่งยืนในการจัดหา ซึ่งอาจรวมถึงการสำรวจวัสดุทางเลือก การใช้กระบวนการประหยัดพลังงาน หรือการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน เช่น โรงงานแห่งหนึ่งอาจลดการใช้ไฟฟ้าที่ได้จากถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติที่ปล่อยคาร์บอนสูง มาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อย่างโซลาร์เซลล์มากขึ้น
งหากผู้ผลิตสินค้าในธุรกิจต่างๆ นำเอาหลักของ Sustainable Sourcing หรือการจัดหาที่ยั่งยืนไปใช้อย่างจริงจัง ก็จะทำให้องค์กรหรือธุรกิจของเรา เป็นธุรกิจที่มีสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลก เพิ่มชื่อเสียง ลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ และมีส่วนช่วยสร้างอนาคตที่เท่าเทียมและยั่งยืนได้ และอาจนำไปสู่การทำธุรกิจได้ยั่งยืนกว่า จากการปรับตัวที่เปลี่ยนจากไม่คำนึงถึงที่มาของแหล่งวัตถุดิบ สู่การเป็นธุรกิจที่เดินไปพร้อมๆ กันกับโลก สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
ขอบคุณข้อมูลจาก workpointtoday.com