กำหนดทิศทาง สิ่งแวดล้อม ของโลกในอนาคต ด้วยมือคุณ
ในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ทั้งภายในประเทศและในท้องถิ่นมีแนวโน้มถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม (ที่มนุษย์สร้างขึ้น) กลับเพิ่มมาแทนมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการประดิษฐ์และพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้อำนวยประโยชน์ต่อมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ผลจากการทำลายสิ่งแวดล้อมขยายขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น
ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงอยู่และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวทุกคนจึงต้องตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน โดยศึกษาถึงลักษณะของปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนแสวงหาแนวทางในการป้องกันเพื่อแก้ปัญหา
สิ่งแวดล้อมหมายถึงอะไร
สิ่งแวดล้อม (Environment) หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพอยู่รอบตัวมนุษย์ และเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมยังเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมทั้งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา เป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
ประเภทของสิ่งแวดล้อม
จากความหมายข้างต้น เราสามารถแบ่งสิ่งแวดล้อมเป็น 2 ประเภท คือ สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Natural environment) และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Made Environment)
1. สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Natural environment) คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบ ๆ ตัวมนุษย์ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถแบ่งย่อยเป็น 2 ลักษณะ คือ
1.1 สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต (Biotic Environment) ใช้ระยะเวลาสั้นในการเกิด และสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ ขณะเดียวกันก็สูญสิ้นไปได้หากเกิดการทำลายธรรมชาติให้เสียสมดุล ได้แก่ ป่าไม้ สัตว์ ทุ่งหญ้า เป็นต้น
1.2 สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Environment) หรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ที่อาจมองเห็นได้หรือไม่ได้ เช่น อากาศ เสียง แร่ธาตุ เป็นต้น เป็นสิ่งแวดล้อมที่ธรรมชาติสร้างขึ้น บางชนิดใช้เวลานานในการเกิดยาวนานจนไม่สามารถรอใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมได้ เช่นเชื้อเพลิง แร่ธาตุ ดิน หิน น้ำ อากาศ เป็นต้น
2. สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Made Environment) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ได้ หรือมองเห็น จับต้องได้ หรือมองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ เป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตนเอง อันจะช่วยให้มนุษย์ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะ
2.1 สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) เป็นสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นและจับต้องได้ มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกและสนองความต้องการขึ้นพื้นฐานของตนเอง ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เป็นต้น
2.2 สิ่งแวดล้อมทางสังคม (Social Environment) มีลักษณะเป็นนามธรรม มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น ประเพณี กฎ ระเบียบข้อบังคับ กฎหมาย เป็นต้น นอกจากนี้ อาจหมายถึง ความเชื่อ ศาสนา พิธีกรรม เป็นต้น
คุณสมบัติของสิ่งแวดล้อม
- สิ่งแวดล้อมมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เพราะฉะนั้นการเข้าใจคุณสมบัติเฉพาะของสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- สิ่งแวดล้อมแต่ละประเภทมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในด้านโครงสร้าง เช่น ขนาด รูปร่าง สี หรือกระบวนการสร้างขึ้น ทำให้สามารถระบุได้ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอะไร เช่น ป่าชายเลน ป่าสน ภูเขา พื้นที่เพาะปลูก เป็นต้น
- สิ่งแวดล้อมไม่มีความโดดเดี่ยว แต่จะมีสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อยู่ด้วยเสมอ เช่น ปลาต้องการน้ำ เพื่อการอยู่รอด สัตว์ป่าต้องการป่าไม้เพื่อเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย
- สิ่งแวดล้อมจะอยู่กันเป็นกลุ่ม เรียกว่าระบบนิเวศ ในระบบนิเวศมีองค์ประกอบหลายชนิด ที่มีหน้าที่เฉพาะ
- สิ่งแวดล้อมควบคุมกระบวนการต่าง ๆ และทำงานร่วมกัน มีความเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ เมื่อสิ่งแวดล้อมหนึ่งถูกทำลายย่อมส่งผลต่ออีกสิ่งหนึ่ง
- สิ่งแวดล้อมแต่ละประเภทมีความทนทาน และมีความเปราะบางมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวหรือถาวรก็ได้
เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อมทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต จึงมีความสำคัญไม่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้อีกด้วย โดยผูกโยงสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่
10 วิธีการช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1. หมั่นดูแลรักษารถยนต์
การดูแลรักษารถยนต์ของคุณ จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง , เปลี่ยนไส้กรอง ตามกำหนด การเปลี่ยนไส้กรอง จะทำให้การไหลของอากาศสะอาดดีขึ้น แน่นอนว่ามันย่อมส่งผลต่อการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ด้วย เป็นการช่วยรักษารถยนต์ ลดมลพิษได้อย่างดีเยี่ยม
2. ลดการใช้ไฟฟ้า
เช่นในตอนกลางวันเราอาจเปิดหน้าต่างเพื่อรับแสงอาทิตย์เข้ามาส่องสว่างในตัวบ้าน แทนการใช้ไฟ นอกจากนี้แสงอาทิตย์ยังช่วยฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ที่เรามองไม่เห็นได้อีกด้วย
3. นำถุงพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ
ถุงพลาสติกที่เราได้มาจากเวลาไปตลาด หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ นำถุงนั้นกลับมาใช้ซ้ำเป็นถุงขยะ
4. ใช้ถุงผ้า
การใช้ถุงผ้าเป็นเรื่องรณรงค์กันมานานมากแล้ว อย่างตัวผู้เขียนเองก็ชอบผับถุงผ้าเล็กๆ ใส่ไว้ในกระเป๋าถือเสมอ เพราะถุงพลาสติกที่บ้านเก็บจนล้นตู้แล้ว เวลาเราซื้ออะไรก็ใช้ถุงผ้านี่แหละในการช็อปปิ้ง นอกจากจะเป็นการลดการใช้พลาสติกแล้ว เดี๋ยวนี้ร้านค้าบางแห่งยังเพิ่มแต้มในบัตรสะสมคะแนนเมื่อคุณไม่รับถุงอีกด้วย
5. สร้างพื้นที่สีเขียวในบ้าน
ร่มเงาของต้นไม้สามารถช่วยประหยัดพลังงาน ของเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ลดลงได้ถึง 50% นอกจากนี้ในฤดูร้อนต้นไม้จะทำบ้านร่มเย็นมากขึ้น ยิ่งบ้านร่มเย็นก็ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ตลอดเวลา
6. เลือกหลอดประหยัดพลังงานไฟฟ้า
การใช้หลอดประหยัดพลังงานไฟฟ้า ใน 1 หลอด เมื่อเทียบกับหลอดพลังงานไฟฟ้าแบบฟูลออเรสเซนต์ สามารถช่วยประหยัดถ่านหินหนักไปได้มากถึง 272 กิโลกรัม ตลอดอายุของหลอดไฟนั้น
7. อย่าเผาเศษใบไม้
ในเศษใบไม้ของ 1 ต้น ถ้าคุณเลือกเผาก็จะทำให้ เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ถึง 80 กิโลกรัม ฝุ่น 18 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นเศษใบไม้ที่กวาดแล้ว ให้ใช้ทำปุ๋ยหมักหรือนำไปสุมไว้บริเวณโคนต้นไม้ จะได้กลายเป็นปุ๋ยสืบต่อไป
8. ไปทำงานด้วยจักรยาน
สำหรับคนที่บ้านใกล้อยู่ที่ทำงาน อยากให้ลองเปลี่ยนมาใช้จักรยานเป็นพาหนะดู นอกจากจะช่วยประหยัดค่ารถแล้ว ยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัวอีกด้วย
9. ใช้ผ้าแทนทิชชู่
ผ้าเปียกนำมาเช็ดคราบสกปรกบางอย่างแทนกระดาษทิชชู่ เช่น คราบอาหารบนโต๊ะ , น้ำหกลงพื้น ลดการใช้ต้นไม้มาทำกรดาษ
10. แยกขยะ
ผลิตภัณฑ์บางประเภทสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ คุณควรแยกเอาไว้ต่างหาก เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบนอกจากนี้คุณยังขายพวกมันเปลี่ยนเป็นเงินได้อีกต่างหาก เช่น ขวดน้ำพลาสติก , หนังสือพิมพ์ , ขวดแก้ว เป็นต้น
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก vcharkarn , summersville