บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยรายงานความคืบหน้าในการจัดหาทูน่าอย่างยั่งยืนประจำปี 2563 โดยกว่า 87 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ทูน่าภายใต้แบรนด์ของบริษัทได้จัดหามาจากการทำประมงที่ถูกต้องตามสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง หรือ Marine Stewardship Council (MSC) และโครงการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานหรือ Fishery Improvement Projects (FIPs) มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการทำงานที่มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ บริษัทยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะจัดหาทูน่าได้อย่างยั่งยืน 100 เปอร์เซ็นต์
โดยรายงานความคืบหน้าในการจัดหาทูน่าอย่างยั่งยืนฉบับนี้ที่เปิดเผยข้อมูลในปีที่ผ่านมา นับเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานด้านความยั่งยืนตามกลยุทธ์ SeaChange® ของไทยยูเนี่ยน
ตั้งแต่ปี 2559 ที่ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศเจตนารมณ์ในการจัดหาปลาทูน่าอย่างยั่งยืน ซึ่งตลอดระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมาได้มีการทำงานด้านต่างๆ และมีความคืบหน้าอย่างมากในด้านความยั่งยืนและความโปร่งใสในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ดังต่อไปนี้
- เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (FIP) ทั้งสิ้น 9 โครงการ โดยทุกโครงการได้รับการประเมินอย่างอิสระจากองค์กร Sustainable Fishery Partnership (SFP) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญในการทำการประมงอย่างยั่งยืน และมีการเปิดเผยรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณะ
- รณรงค์ให้มีการปรับปรุงมาตรการในการทำประมงเพื่อใช้ในระดับภูมิภาคและมหาสมุทร
- ติดตั้งระบบตรวจสอบอิเล็กทรอนิกส์ในเรือประมงเพื่อเพิ่มความโปร่งใส รวมถึงเพิ่มจำนวนเรือประมงที่ติดตั้งระบบดังกล่าว
- พัฒนาโครงการลดการใช้อุปกรณ์การทำประมงประเภทซั้ง (FAD) ในประเทศเซเชลล์
- เข้าร่วมโครงการ Ocean Disclosure Project และเปิดเผยข้อมูลการจัดหาปลาทูน่าทั่วโลกของบริษัทอย่างโปร่งใส
- มีการตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนบนเรือประมงในมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก และอินเดีย โดยมีองค์กรอิสระเป็นผู้ให้การรับรอง
- เข้าร่วมในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เพื่อร่วมกันพูดคุยถึงประเด็นความท้าทายต่างๆ ที่มีในอุตสาหกรรม เช่น กลุ่ม Seafood Business for Ocean Stewardship กลุ่ม Global Ghost Gear Initiative และ UN Global Compact เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ปฏิบัติตามมาตรการของมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล หรือ International Seafood Sustainability Foundation (ISSF) โดย 100 เปอร์เซ็นต์ และผู้บริหารของไทยยูเนี่ยน เควิน บิกซ์เล่อร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ
ในรายงานฉบับนี้ ไทยยูเนี่ยนได้ตั้งเป้าหมายในการจัดหาทูน่าอย่างยั่งยืนไปจนถึงปี 2568 ดังนี้ “ภายในปี 2568 ปลาทูน่าที่ไทยยูเนี่ยนจัดหาจะมาจากการประมงที่ยั่งยืน เพื่อที่จะป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม และการใช้แรงงานทาสสมัยใหม่” เป้าหมายนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการทำงานด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารทะเล
เป้าหมายในการจัดหาปลาทูน่าได้อย่างยั่งยืนนี้ยังรวมถึงความร่วมมือกับองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก The Nature Conservancy ในการนำระบบตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานมาใช้ให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568 รวมถึงติดตั้งระบบติดตามอิเล็กทรอนิกส์บนเรือประมงของคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานทูน่าของบริษัททั่วโลก ไทยยูเนี่ยนจะเดินหน้าต่อยอดการทำงานด้านความยั่งยืนที่ดำเนินการในช่วงปีห้าปีที่ผ่านมา ด้วยการสนับสนุนคู่ค้าที่ร่วมทำงานในโครงการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน หรือ FIPs ให้ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง หรือ Marine Stewardship Council (MSC) ซึ่งการทำงานอย่างต่อเนื่องคือหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2568 ทำงานใต้กรอบนโยบายของบริษัทที่ประกาศในปี 2563 ว่าด้วยเรื่องการจัดหาปลาทูน่าอย่างมีความรับผิดชอบ กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนมุ่งเน้นไปที่ความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และการทำงานร่วมกับองค์กรด้านความโปร่งใสของอุตสาหกรรมอาหารทะเล Global Dialogue on Seafood Traceability (GDST) อย่างใกล้ชิด
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผมภูมิใจที่บริษัทใกล้ที่จะบรรลุเป้าหมายในการจัดหาปลาทูน่าอย่างยั่งยืน 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าภายใต้แบรนด์ของบริษัท และเรายังตระหนักดีว่ามีอีกหลายสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงตั้งเป้าหมายที่ต้องบรรลุภายในปี 2568 ขึ้น โดยยึดหลักความโปร่งใสในการรตรวจสอบย้อนกลับได้เป็นหัวใจในการทำงาน และเดินหน้าทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ตลอดจนแรงงานทาสสมัยใหม่ในห่วงโซ่อุปทานของเรา”
ไทยยูเนี่ยนยังคงพัฒนามาตรการต่างๆ ต่อไปในปี 2564 นี้และจะเผยแพร่รายงานความคืบหน้าต่อไป