เปลี่ยนขยะให้เป็นงานศิลปะ ทางเลือกที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อม
ในช่วงระยะหลัง เรามักจะได้เห็นสัตว์น้ำตายเพราะกินขยะเข้าไป นั่นหมายความว่าขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากมีการกำจัดขยะไม่ถูกวิธี ก็อาจจะส่งผลร้ายมากกว่าผลเสียกับสิ่งแวดล้อม จึงเกิดไอเดียการสร้างสรรค์งานศิลปะจากขยะขึ้นมาค่ะ เราจะไปดูกันว่าศิลปะจากขยะจะเป็นทางเลือกที่ดีกับการรักษาสิ่งแวดล้อมนี้ได้อย่างไร
ขยะตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมจริงหรือ
ขยะ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยหาทางออกกันในทุกวงการไม่เว้นแต่แวดวงศิลปะ หลายครั้งจึงมีคนตั้งคำถามว่าขยะคือตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมจริงหรือเปล่า หรือมนุษย์เรานี่แหละคือสาเหตุหลักที่ทำลายสิ่งแวดล้อมกันแน่ ศิลปินหลายคนจึงพากันสร้างสรรค์ขยะให้กลายเป็นศิลปะ พื่อรณรงค์เชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกทำลายจากมนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนจะได้รับผลกระทบในอนาคตและไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
ศิลปะขยะกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
การสร้างสรรค์งานศิลปะจากขยะไม่ได้ช่วยสิ่งแวดล้อมในระยะสั้นเท่านั้น หากแต่ช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย ในหลายปีที่ผ่านมามีสัตว์จำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญเสียบ้าน เนื่องจากมีขยะพลาสติกจำนวนมากถูกทิ้งลงทะเล ก่อให้เกิดมลพิษทางทะเล สัตว์ทะเลเสียชีวิตจำนวนมากจากการกินขยะพลาสติก การนำขยะมานำเสนอในรูปแบบศิลปะ จะเป็นการสร้างการตระหนักด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสามารถจัดออกมาทั้งในรูปแบบของนิทรรศการ การออกแบบสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากขยะ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ศิลปะจากขยะจึงเป็นการสื่อสารที่ง่ายแต่เข้าถึงคนทุกเพศ ทุกวัยไม่จำกัด เพื่อให้คนหันกลับมาดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม แม้ว่ามนุษย์จะเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักในการทำลายธรรมชาติและยังเป็นสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็มีความสามารถในการปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกัน ซึ่งศิลปะจากขยะก็คือเครื่องพิสูจน์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
เปลี่ยนของ “ถูกทิ้ง” สู่การสร้าง “มูลค่า”
คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าขยะคือของที่ต้องนำไปทิ้ง ไม่มีราคา แถมยังสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม แต่การเปลี่ยนขยะเป็นงานศิลปะ ทำให้มูลค่าของขยะเพิ่มสูงมากขึ้น เพราะสามารถนำมาสร้างสรรค์ข้าวของเครื่องใช้จากขยะได้ แถมยังลดต้นทุน ลดปัญหาการกำจัดขยะหรือขยะล้นเมือง แถมยังสร้างรายได้ในอีกช่องทางหนึ่งได้ด้วย
นอกจากนี้ สิ่งที่ชัดเจนมากที่ศิลปะจากขยะต้องการจะสื่อสารออกไป คือ การนำงานศิลปะมาบอกเล่าปัญหาต่าง ๆ ของสังคมอย่างเต็มที่ เพราะหลายครั้งมนุษย์ก็ใช้ขยะอย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งขยะหลาย ๆ อย่างแฝงไปด้วยวิวัฒนาการอารยธรรมของมนุษย์ทั้งด้านอุปโภคบริโภคที่เปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัย และก็แน่แหละว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนของบางชิ้นก็กลายเป็นขยะในแทบจะทันที
นอกจากนี้ ยังมีศิลปินมากมายที่สร้างสรรค์ขยะให้ออกมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่สามารถใช้งานได้จริง เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ ก็จะช่วยให้ของที่ไร้ค่ากลับมามีคุณค่าและมีราคาอีกครั้ง
ขยะพูดได้
ขยะที่ถูกเปลี่ยนเป็นศิลปะสามารถพูดหรือบอกเล่าตัวมันผ่านงานศิลปะนั้นได้ าไม่ใช่นักวิจัยหรือคนที่อินกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว การอ่านข้อมูลเยอะ ๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องน่าเบื่อเกินไป การพูดผ่าน ‘ศิลปะ’ ก็เป็นวิธีที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าถึงและเข้าใจกับประเด็นการเปลี่ยนไปของโลกได้ง่ายขึ้น ตื่นเต้นขึ้น และน่ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ศิลปะเป็นสื่อกลางสร้างสรรค์ที่ไม่ต้องนำข้อมูลที่ดูเข้าใจยากมานั่งอธิบาย เมื่อเหล่าศิลปินได้สื่อสารออกมาในรูปของผลงาน ก็ทำให้ประเด็นต่างๆ มีพลังมากพอ สามารถจับต้องได้ เพราะคนดูได้เห็นภาพกับตา เป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้เกิดอิมแพคในการช่วยขับเคลื่อนสังคม โดยเมื่อปีก่อน ๆ งาน Bangkok Art Biennale 2020 ที่รวมศิลปินจากทั่วโลก ได้มารวมตัวกันเพื่อส่งต่อประเด็นของโลกร้อน สิ่งแวดล้อม และสังคม ในมุมที่พวกเขาให้ความสำคัญแก่คนดู
ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การนำเสนอและเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการรักษาสิ่งแวดล้อมก็ควรจะหมุนตามไป เพราะอย่างน้อยที่สุด อิมแพคที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลดีกับโลกใบนี้แน่นอน
ติดตามข่าวสารและบทความเกี่ยวกับ The Sustain – ธุรกิจและความยั่งยืน พลังงาน ภาวะโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ