มาทำความรู้จักกับก๊าซเรือนกระจกกันเถอะ
รู้สึกกันไหมคะ ว่าเดี๋ยวนี้โลกเราร้อนขึ้นเยอะเลย เราก็คงได้เคยผ่านตา ผ่านหู กันมาหลายครั้งแล้ว เกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อน หลายคนกลับมามองแต่ว่าปัญหาโลกร้อนเกิดจากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย แต่จริง ๆ พฤติกรรมของมนุษย์ก็เป็นสาเหตุสำคัญ แม้ว่าธรรมชาติจะมีกลไกการป้องกันที่เรียกว่า “ภาวะเรือนกระจก” ที่จะคอยควบคุมให้อุณหภูมิของโลกสมดุล เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต แต่ทว่า สถานการณ์ตอนนี้ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศของโลกเราขณะนี้มากเกินจุดที่เรียกว่า “สมดุล” จึงเกิดปัญหาตามมามากมาย เราจึงจะพาไปทำความรู้จักกับเจ้าก๊าซเรือนกระจกนี้กัน
ก๊าซเรือนกระจก คืออะไร
ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) เรียกย่อ ๆ ว่า GHG คือก๊าซในบรรยากาศของโลกที่ดูดซับและปลดปล่อยรังสีอินฟราเรดร้อนออกมา โดยบางส่วนจะออกสู่ห้วงอวกาศ แต่บางส่วนก็จะสะท้อนความร้อนจากชั้นบรรยากาศกลับสู่พื้นผิวโลก เรียกว่า ปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect)
ก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วย ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาระดับอุณหภูมิโลก เหมือนที่ได้เกริ่นไปในตอนต้น ธรรมชาติคอยควบคุมให้อุณหภูมิสมดุลเพื่อให้สิ่งมีชีวิตอยู่บนโลกได้ เพราะถ้าไม่มีก๊าซเรือนกระจก โลกจะหนาวจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอยู่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามีก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป ก็ส่งผลอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตเช่นกัน
รู้หรือไม่ ว่าก๊าซเรือนกระจกสามารถเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ได้
กิจกรรมหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์นั้นสามารถทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน ซึ่งมาจากกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง ซึ่งหลายคนยังคงเข้าใจว่าเกิดจากธรรมชาติเป็นหลัก มาดูตัวอย่างกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกกันค่ะ ว่าจะมีอะไรบ้าง
- การเผาผลาญเชื้อเพลิงและการทำลายป่า จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สู่บรรยากาศมากขึ้น
- การใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) ในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งการใช้ก๊าซฮาลอน (Halon) ในระบบถังดับเพลิง และกระบวนการผลิตของผู้ผลิต
- กิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งรวมทั้งการใช้ปุ๋ยที่เป็นตัวเพิ่ม ก๊าซไนตรัสออกไซด์
- การปล่อยก๊าซจากหลุมฝังกลบขยะ ทำให้เพิ่มปริมาณมีเทนมากขึ้นในบรรยากาศ
ก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้จริงหรือ
ภาวะโลกร้อน (Global warming) หมายถึง การเพิ่มระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศใกล้พื้นผิวโลกและผิวน้ำบนมหาสมุทร ซึ่งการที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นผลมาจากความเข้มของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมของมนุษย์
ในเวลากลางวัน รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ถูกส่งมายังโลก แม้จะมีบางส่วนที่ถูกสะท้อนออกไปโดยบรรยากาศชั้นสูง ๆ แต่บางส่วนที่ถูกดูดซับไว้จะเป็นตัวที่ทำให้พื้นผิวโลกอุ่นขึ้น และในเวลากลางคืน เมื่อพื้นผิวโลกเย็นลง จะปล่อยความร้อนกลับสู่บรรยากาศ แต่ความร้อนบางส่วนจะถูกก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศกักเก็บไว้ ทำให้พื้นผิวโลกมีความอบอุ่นแม้ในเวลากลางคืน
เมื่อใดที่ก๊าซเรือนกระจกมีมากเกินไปในชั้นบรรยากาศ ก็จะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากรังสีความร้อนสะท้อนออกไปนอกโลกได้น้อยลงเพราะ เจอชั้นบรรยากาศที่มีก๊าซเรือนกระจกอยู่หนาแน่นทำให้เกิดการสะท้อนกลับไป-กลับมา เกิดเป็นความร้อนสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ อันเป็นสาเหตุให้โลกของเราร้อนขึ้น และยังเป็นสาเหตุให้เกิด Climate Change อีกด้วย
เราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้เลย ว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้น เพราะแม้กระทั่งลมหายใจของเรา ก็ล้วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา เพราะฉะนั้น หากเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อที่ก๊าซเรือนกระจกจะสามารถกลับมาอยู่ในจุดที่สมดุลได้ ก็ย่อมส่งผลดีกับโลกของเราเช่นกัน เพราะหากก๊าซเรือนกระจกยังคงเกินสมดุล โลกก็ต้องแบกภาระหนักมากขึ้น นั่นก็จะส่งผลเสียต่อทุกสรรพชีวิตบนโลกใบนี้
ติดตามข่าวสารและบทความเกี่ยวกับ The Sustain – ธุรกิจและความยั่งยืน พลังงาน ภาวะโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ