The Origin of Rebirth แฟร์ชั่นการใช้วัสดุรีไซเคิลซึ่งเป็นโจทย์หลัก
‘The Origin of Rebirth’ ชูคอนเซ็ปท์ Circular Fashion คว้าแชมป์ในโครงการ RECO Young Designer Competition “วัสดุทุกอย่างล้วนสวยในตัวของมัน เพียงแค่หยิบมาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง ก็เพิ่มความสวยให้มัน และใช้ประโยชน์ได้สูงสุด” โอเว่น หรือ เปรม บัวชุม แชมป์ดีไซน์เนอร์อัพไซเคิลรุ่นใหม่จากโครงการ RECO Young Designer บอกว่า “ดีใจมากที่ในที่สุดความพยายามก็ชนะทุกสิ่ง เราเคยเข้าประกวดโครงการ RECO ในปี 2019 มาแล้วครั้งนึงได้ผ่านเข้าถึงรอบ 10 ทีมสุดท้าย แต่ยังไม่ถึงฝั่งฝัน ถึงอย่างนั้นก็ไม่ละความพยายาม จนมาถึงปีนี้ตั้งใจเข้าประกวดอีกครั้ง เราก็สั่งสมความรู้มาเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้วัสดุรีไซเคิลซึ่งเป็นโจทย์หลักมาใช้ในงานดีไซน์แฟชั่นในคอลเล็คชั่น The Origin of Rebirth” โอเว่น เล่าว่า “แรงบันดาลใจจากผลงานชิ้นนี้มาจากทฤษฎีบิ๊กแบง ที่อธิบายถึงการระเบิดใหญ่ที่ทำให้พลังงานส่วนหนึ่งเปลี่ยนเป็นเนื้อสาร มีวิวัฒนาการต่อเนื่องจนเกิดเป็นกาแล็กซี เนบิวลา ดาวฤกษ์ ระบบสุริยะ โลก ดวงจันทร์ มนุษย์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในเวลาต่อมา การออกแบบครั้งนี้จึงสะท้อนถึงการดับสูญและการเกิดใหม่ ไอเดีย คือ การนำเศษป้ายยี่ห้อที่ไม่มีใครต้องการมารีไซเคิลเป็นเส้นด้ายใหม่ แล้วถักทอเข้าด้วยกันเป็นผ้าผืนใหม่ ก็เหมือนกับการที่สารต่างๆ หลอมรวมกันจนเกิดกาแล็คซี่และสิ่งต่างๆ” สำหรับเทคนิคการตัดเย็บ โอเว่น อธิบายว่า ได้นำเศษป้ายยี่ห้อเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมทอผ้าที่มีความสวยงามในตัวเองอยู่แล้วมาอัพไซเคิลเพื่อสร้างสรรค์ให้เสื้อผ้ากลายเป็นงานศิลปะเพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าทางจิตใจ ผนวกกับการนำผ้าโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลที่ผลิตจากขวด PET ใช้แล้วซึ่งได้รับการสนับสนุนมาจากอินโดรามา เวนเจอร์ส มาเป็นวัตถุดิบในการตัดเย็บชุดด้วยเทคนิคที่ถูกที่ถูกทางในคอลเล็คชั่นนี้ ก็ช่วยเพิ่มความสวยงามและโดดเด่นมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถดีไซน์เป็น accessories ต่างๆ ได้ รวมถึงการถักทอต่างๆ ยังสามารถกระจายรายได้ให้ชุมชนต่อได้ และผลิตเป็นเสื้อผ้าแบบ Ready to Wear ซึ่งสามารถนำสิ่งเก่ามาประยุกต์เป็นสิ่งใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ขายตามท้องตลาดได้ และใส่เดินเที่ยวบนท้องถนนได้จริง ตามแนวทางของ Circular Fashion” นวีนสุดา กระบวนรัตน์ รองประธานร่วมฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ในฐานะผู้จัดงาน และหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวเสริมว่า “คุณค่าของการรีไซเคิล หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้โดยอาศัยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างรายได้ และลดของเสียจากอุตสาหกรรมจะช่วยลดปริมาณขยะ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง และในฐานะที่ไอวีแอลเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการรีไซเคิล จึงเป็นที่มาและแนวคิดของโครงการประกวดออกแบบแฟชั่นรักษ์โลก RECO Young Designer ซึ่งได้จัดมายาวนานกว่า 9 ปี” “ในแต่ละปีที่ผ่านมา ต้องเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการตอบรับของผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ RECO มากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของพัฒนาการของการออกแบบ การผลิตชิ้นงาน รวมถึงสิ่งที่เราพยายามถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ให้แก่น้องๆ เกี่ยวกับการรีไซเคิล ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้นำขยะขวดพลาสติก PET มาใช้ในกระบวนการรีไซเคิลเพื่อแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก และเส้นใยโพลีเอสเตอร์สังเคราะห์รีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อให้เข้าใจกระบวนการรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โครงการ RECO ยังมีที่ปรึกษาเป็นนักออกแบบ ซึ่งจะมาช่วยแนะนำน้องในเชิงการค้า ทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ เพราะบางครั้งไอเดียอย่างเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอ ก็ต้องมีการผสมผสานทั้งองค์ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ” ...