Work From Home การทำงานที่บ้านดีต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร?
น่าประหลาดใจที่การทำงานที่บ้านช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นในหลายๆ ด้าน โดยข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน สํานักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency : EPA)
และสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (U.S. Energy Information Administration-EIA) ชี้ให้เห็นตรงกันว่าอัตราการใช้พลังงานและอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายชั้นบรรยากาศลดลงเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2020-2021 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิดและผู้คนทั้งโลกต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปทำงานที่บ้าน
ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็คือ พฤติกรรมของมนุษย์ เพียงแค่มนุษย์ปรับพฤติกรรมก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ การเปลี่ยนไปทำงานที่บ้านก็ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมทั่วโลกเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
1. ลดการใช้พลังงานเกินความจำเป็น
องค์กรที่ใช้การทำงานแบบ Remote Work จะช่วยลดการใช้พลังงานเกินความจำเป็นลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อคนส่วนมากไม่ต้องมารวมตัวกันเพื่อทำงานในองค์กรทำให้การใช้พลังงานสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมลดลงทันที
ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า: กระทรวงพลังงานของไทยแสดงให้เห็นว่ามีการใช้พลังงานไฟฟ้าลดลง 16.06% ในปี 2020 และสถิติการใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินสำหรับผลิตไฟฟ้าจากสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (U.S. Energy Information Administration-EIA) ยังชี้ให้เห็นว่า อัตราการใช้พลังงานถ่านหินสำหรับไฟฟ้าของทั้งโลกลดลงถึง 51% อีกด้วย
เนื่องจากคนต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวทำให้มีการใช้พลังงานจากภาคธุรกิจน้อย คนต้องลดการใช้ไฟและประหยัดไฟมากขึ้นเนื่องจากต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าเอง
ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง: การทำงานที่บ้านทำให้ไม่ต้องออกเดินทาง จึงลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติสำหรับยานพาหนะลง รวมถึงมีการใช้พลังงานจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมน้อยลง นอกจากนี้ ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่บรรยากาศได้อีกด้วย
2. ลดการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น
หลายครั้งที่การทำงานทำให้เราใช้ทรัพยากรมากเกินความจำเป็น เช่น การใช้อุปกรณ์สำนักงานจำนวนมากในบริษัท การใช้ทรัพยากรในชีวิตประจำวันที่มากเกินความจำเป็น เป็นต้นเมื่อเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำงานที่บ้าน อัตราการใช้อุปกรณ์สำนักงานก็ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะทรัพยากรกระดาษที่ผลิตจากต้นไม้ การใช้กระดาษกลายมาเป็นการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทน
นอกจากนี้ การทำงานที่บ้านยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วทิ้งลง เมื่อคนส่วนมากอยู่บ้านอัตราการซื้ออาหารที่มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์อย่างกล่องโฟมหรือแก้วกาแฟจะลดลงเพราะหลายๆ คนหันมาทำอาหารทานเองที่บ้าน ชงกาแฟทานเองที่บ้านและใช้ภาชนะในบ้านแทน
ถึงแม้ว่าอัตราการสั่ง Delivery ที่มาพร้อมกับ Packaging จะเพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจหลายๆ แบรนด์ให้ความสำคัญกับเทรนด์รักษ์โลกและเลือกใช้ Packaging ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นในระยะยาวทรัพยากรใช้แล้วทิ้งที่ก่อให้เกิดมลภาวะอย่างพลาสติกและโฟมจะค่อยๆ ลดลง
3. ทำให้มีการจัดการกับระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
เมื่อคนส่วนมากทำงานที่บ้านทำให้พวกเขาต้องอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งโดยปกติของมนุษย์มักจะรู้จักรักษาและปกป้องพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าพื้นที่ส่วนรวม ดังนั้น การรักษาความสะอาดและจัดการกับขยะในพื้นที่ของตัวเองจึงไม่ใช่เรื่องยาก ส่งผลให้มีการจัดเก็บขยะที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นการแยกหรือจัดเก็บขยะ นอกจากนี้ เมื่อคนไม่ออกไปข้างนอกยังทำให้ปริมาณขยะสาธารณะลดลงมากอีกด้วย
การที่คนไม่สามารถออกไปข้างนอกทำให้ระบบนิเวศน์ดีขึ้นเนื่องจากคนบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติอย่างป่าและท้องทะเลลดลง ทำให้ไม่ไปรบกวนระบบต่างๆ ในธรรมชาติ ทั้งการเกิดขยะปนเปื้อนจากมนุษย์ การล่าสัตว์ การประมง รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรลดลง ระบบนิเวศน์ของธรรมชาติจึงมีโอกาสได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่
4. ช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้น
คุณภาพอากาศดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อคนจำนวนมากหันมา WFH เนื่องจากผู้คนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงาน ทำให้อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ของควันรถยนต์ลดลงอย่างเห็นได้ชัดซึ่งส่วนนี้เองส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกลดลง EIA ยังแสดงสถิติการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงถึง 11% ในปี 2020 อีกด้วย
โดยเฉลี่ยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 54 ล้านตันต่อปี เพียงแค่ทุกคน Work Frome Home 3 วันต่อสัปดาห์ตลอดทั้งปี
ในประเทศไทยเองปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่เคยเป็นปัญหาใหญ่เมื่อปี 2020 ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อคนส่วนใหญ่ปรับพฤติกรรมมา Work From Home
การทำงานที่บ้านส่งผลให้ปัจจัยในการก่อมลภาวะในอากาศลดลงรวมถึงก๊าซที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกก็ลดลงเช่นกันทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นอย่างมาก
5. ลดความเสียหายต่อโครงสร้างโลกและสิ่งแวดล้อม
พฤติกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนทั้งโลกในช่วงเวลาเดียวกันนี้ทำให้ช่วยลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมลงได้เป็นอย่างมากตามที่กล่าวไปข้างต้น
หลังจากคนทั้งโลกเปลี่ยนพฤติกรรมโดยรวมพร้อมกันครั้งใหญ่ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทางที่ดีขึ้นจากการปรับพฤติกรรมทำให้ทั่วโลกมองเห็นปัญหาร่วมกันชัดเจนยิ่งขึ้นในการประชุมของสหประชาชาติในปี 2021 ที่ผ่านมา โดยประเทศมหาอำนาจหลายประเทศทั่วโลกได้ตกลงร่วมกันว่าจะลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนและการทำลายสิ่งแวดล้อมลง
โดยในการประชุมครั้งนี้มีการตกลงให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมลง ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะหรือภาคอุตสาหกรรม ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองจากภาคธุรกิจและหันมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดอัตราการเกิด Green House และควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสในแต่ละศตวรรษ
Work From Home เทรนด์การทำงานที่บ้านไม่ควรเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว
บทเรียนสำคัญที่คนทั้งโลกได้เรียนรู้ไปพร้อมกันจากสถานการณ์โควิด-19 นอกจากจะเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ความไม่แน่นอนก็คือผลจากพฤติกรรมของตัวเราเอง เพียงแค่ช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่พฤติกรรมของมนุษย์ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันเราก็เห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นทันที แล้วทำไมเราถึงจะไม่ทำมันต่อ?
การทำงานที่บ้านไม่ควรเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว นอกจากการทำงานที่บ้านจะมีข้อดีหลายข้อต่อภาคธุรกิจและตัวพนักงานเองแล้ว ยังเห็นได้ชัดว่าส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เราทุกคนรวมทั้งภาคธุรกิจจึงควรนำระบบการ WFH มาปรับใช้ในระยะยาว
ระดับบุคคล: หลายคนที่ได้ทำงานที่บ้านในช่วงที่ผ่านมาก็จะรู้แล้วว่าเราสามารถทำงานได้ดีขึ้นลดค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ลง รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรลงเราสามารถเรียนรู้ที่จะรักษ์โลกมากขึ้นและรักตัวเองมากขึ้นจากประสบการณ์ครั้งนี้แล้วนำไปใช้ในอนาคตได้
ระดับองค์กร: การใช้ระบบทำงานที่บ้านถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเพราะใช้ทรัพยากรพลังงานและสร้างมลพิษน้อยลง นอกจากนี้ การใช้นำระบบ Remote Work ไปใช้ยังเป็นการมอบความสุขและให้อิสระกับพนักงานอีกด้วย
บางองค์กรอาจไม่เหมาะกับการใช้ระบบการทำงานที่บ้านตลอดเวลาก็สามารถให้ปรับใช้เป็นทำงานที่บ้านเป็นบางวันในแต่ละสัปดาห์หรือในกรณีฉุกเฉินซึ่งอาจส่งผลต่อที่การเดินทางมาทำงานของพนักงาน เช่น วันที่ฝนตกการจราจรติดขัด ก็สามารถให้พนักงานทำงานที่บ้านแทนได้
การปรับพฤติกรรมของมนุษย์ไป WFH เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นแต่หากจะพัฒนาสิ่งแวดล้อมไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้ ทุกคนต้องมองหาสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในระยะยาวอย่างการใช้ Renewable Energy หรือพลังงานทดแทนควบคู่กันไปด้วย
พลังงานทดแทนที่สนับสนุนการทำงานบ้านระยะยาว
ถึงแม้ว่าคนส่วนมากจะปรับพฤติกรรมมาทำงานที่บ้านแต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่เราทุกคนจำเป็นต้องใช้คือ “พลังงาน” ซึ่งหากว่าเรายังคงใช้พลังงานรูปแบบเดิม เช่น พลังงานเชื้อเพลิง พลังงานถ่านหิน พลังงานน้ำมัน หรือพลังงานฟอสซิล ก็ยังเป็นตัวที่ทำให้เกิดมลภาวะอยู่ดี
ทางเลือกใหม่สำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคลระดับองค์กรและระดับโลก คือ การหันมาใช้พลังงานทางเลือกแทนเพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดมลภาวะหรือลดความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมลงได้
การลงทุนในพลังงานทดแทนแม้จะใช้ต้นทุนตอนต้นที่สูงกว่า แต่แน่นอนว่าผลลัพธ์ระยะยาวคุ้มค่ากว่าทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายและการรักษาสิ่งแวดล้อม
ในหลายๆ ประเทศเริ่มมีการผลักดันให้มีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี
อย่างเช่น ประเทศมหาอำนาจอย่างประเทศจีนมีการออกกฎหมายลดการใช้พลังงานฟอสซิส มีการทำสัญญาลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงออกนโยบายการลดภาษีให้กับประชาชนที่ใช้พลังงานทดแทน
ประเทศเยอรมนีก็มี Renewable Energy Statistics (AGEE-Stat) หรือสถิติการใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปีด้วยเช่นกัน
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก pttexpresso