จากทะเล สู่ท้องฟ้า จากภูเขา สู่สายน้ำ ทอดยาวไปยัง โบราณสถาน ถึง ชุมชนที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน ความงดงามตามธรรมชาติและวิถีของผู้คนที่แตกต่างกันออกไป ได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนนิยมเดินทางมาแวะเวียนเที่ยวชม แต่ด้วยรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่ มักจะเป็นไปในรูปแบบการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องมลภาวะ และสภาพการจราจรที่ติดขัดตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทำให้พื้นที่ธรรมชาติ และวิถีชุมชนดั้งเดิมถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย แต่ไม่ใช่สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนาตามแนวทาง TOD (Transit-oriented development) ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
เมืองท่องเที่ยวจะสวยงาม ต้องประกอบไปด้วยทิวทัศน์และวิถีชีวิตของผู้คน
ทำไมพื้นที่ท่องเที่ยวสามารถนำแนวทาง TOD ไปพัฒนาได้ นั่นก็เพราะว่า TOD เป็นการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ ซึ่งพัฒนาได้หลากหลายรูปแบบ สามารถปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยยึดสิ่งสำคัญ คือ การสำรวจความต้องการของประชาชน ว่ามีความต้องการพัฒนาไปในทิศทางใด โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ที่มักจะพบปัญหาการเติบโตของเมืองอย่างไร้ทิศทาง พื้นที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เมือง หรือพื้นที่ท่องเที่ยวธรรมชาติในต่างจังหวัด มักจะถูกกว้านซื้อจากนายทุน เพื่อสร้างโรงแรมที่พัก เปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์เดิมให้เสื่อมมนต์เสน่ห์ที่เคยมี
ขณะที่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยเดิม จำต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปทำอาชีพอื่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น สุดท้ายจึงเหลือแต่เพียงร่องรอยอารยธรรม โดยปราศจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรอยู่คู่กัน
ตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวตามแนวทาง TOD ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่ง และมีความใกล้เคียงกับแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็คือ กาลี เบซาร์ (Kali Besar) กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ โกตา ตัว จาการ์ตาร์ (Kota Tua Jakarta) หรืออีกนามคือ เมืองเก่าปัตตาเวีย (Old Town Batavia) รู้จักกันในฐานะศูนย์กลางการค้าของชาวดัตซ์ และเมืองอาณานิคมดัตซ์ ในช่วงศตวรรษที่ 17 พื้นที่ท่องเที่ยวแห่งนี้มีการวางผังเมือง และการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ที่มีความสวยงาม มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเที่ยวชมนับล้านคนต่อปี
แต่ก็เหมือนกับพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งอื่นในโลก เมืองเก่าปัตตาเวีย ถูกการเติบโตของเมืองขยายและกลืนกิน แปรเปลี่ยนสภาพความเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้กลายเป็นเมืองที่เติบโตอย่างไร้ทิศทาง (Urban Sprawl) กรุงจาการ์ตาจึงมีแผนการพัฒนาเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2523 ด้วยความร่วมมือในการพัฒนาเส้นทางรถไฟกับประเทศญี่ปุ่น พอถึงช่วงปี พ.ศ. 2547 ก็ได้รับการพัฒนาปรับปรุงระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ Transjakarta ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงกรุงจาการ์ตาทั้งเมืองในทางที่ดี รวมทั้งเมืองเก่าปัตตาเวีย ก็ได้อานิสงส์ จากการพัฒนานี้จากการสร้างสถานีขนส่งสาธารณะที่จาดาโกต้า ทำให้การเดินทางเข้ามายังพื้นที่ เมืองเก่าปัตตาเวียมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
หลังจากพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น จึงเริ่มมีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทาง TOD ตามมาเป็นลำดับ ในปี พ.ศ. 2542 กรุงจาการ์ตาได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาท้องถิ่น กำหนดให้พื้นที่เมืองเก่าปัตตาเวียเป็นพื้นที่อนุรักษ์ โดยกำหนดขอบเขตการพัฒนาให้เจ้าของสามารถปรับปรุงซ่อมแซมอาคารได้ แต่ต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ภายนอก ทำให้อาคารต่างๆ ในพื้นที่ เมืองเก่าปัตตาเวีย กลายเป็นอาคารที่ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ แต่อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถบังคับให้คนในชุมชนต้องทนอยู่กับสิ่งเดิมๆ ในขณะที่เทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลก ได้เข้ามามีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของเราทุกคน ในข้อบังคับจึงมีการอนุโลมให้ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานพื้นที่ภายในอาคารอนุรักษ์เหล่านี้ได้ตามความต้องการ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการใช้ข้อกฎหมายมาบังคับประชาชนให้ออกจากพื้นที่ หรือบ้านของประชาชนในทางอ้อม เพราะอยู่อาศัยลำบาก ทำให้พื้นที่เมืองเก่าปัตตาเวีย ยังคงมีเสน่ห์มนต์ขลังของความเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้
โดยที่ผู้คนยังคงสามารถใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ หรือสามารถเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปตามความนิยมของนักท่องเที่ยว ทำให้คนท้องถิ่นยังคงสามารถอยู่อาศัยในพื้นที่ และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา ทำให้เมืองนี้เป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งไม่ได้มีแค่ความสวยงามของอาคารบ้านเรือน แต่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิต พูดคุยกับคนในท้องถิ่นที่แท้จริง ไม่ใช่นายทุนนอกพื้นที่ ที่เข้ามาหาผลประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยว
ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มศักยภาพการเข้าถึง
กระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2561 ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงพื้นที่ในเมือง เมืองเก่าปัตตาเวียครั้งใหญ่อีกครั้งด้วยการซ่อมแซม และพัฒนาโครงข่ายทางเดินเท้า ไปจนถึงออกฎระเบียบทางเดินเท้า ไม่ให้มีหาบเร่แผงลอย เพื่อคืนพื้นที่ทางเท้าให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างป้ายรถเมล์ไว้ตามสถานที่สำคัญ เช่น พิพิธภัณฑ์ ย่านเก่าแก่ ย่านค้าขาย โดยเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟ และท่าเรือที่ใกล้ที่สุด มีการจัดตารางเวลาเดินรถอย่างสอดคล้องกับการเที่ยวชมของนักท่องเที่ยว ทำให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องเสียเงินใช้บริการรถแท็กซี่ หรือรถรับจ้างในราคาแพง อีกทั้งยังสามารถวางแผนเดินเที่ยวชมได้ด้วยตัวเองทั้งหมด
ส่งผลให้ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวจากการสำรวจในปี พ.ศ. 2561 มีความพึงพอใจถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถเดินเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในย่านเมืองเก่าปัตตาเวียได้อย่างสะดวกสบาย มีอัตราการเดินทางของนักท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งสาธารณะสูงถึง 57 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล 23 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ในการสำรวจความพึงพอใจ หรือความประทับที่ทำให้รู้ว่าสนุกไปกับการท่องเที่ยวเมืองเก่าปัตตาเวีย ทั้งหมด 5 ด้าน โดยเลือกด้านใดด้านหนึ่งมากที่สุด ได้แก่ ความสวยงามของทิวทัศน์, ความสะดวกในการเดินทาง, กลิ่น, เสียง และ สัมผัส พบว่า นักท่องเที่ยวชื่นชมความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ที่ 37 เปอร์เซ็นต์ ชื่นชอบความสะดวกสบายในการเดินทางไปยังจุดท่องเที่ยวต่างๆ 36 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 27 เปอร์เซ็นต์ เป็นการชื่นชอบในกลิ่น เสียง และสัมผัสของสถานที่ เรียกได้ว่าเป็นสัดส่วนความประทับใจที่มีต่อความสะดวกสบายในการเดินทาง ที่สามารถทำได้เทียบเคียงกับความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวเลยทีเดียว และยังประสบความสำเร็จในแง่การจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอีกด้วย
หากเราพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองเก่าปัตตาเวีย ประเทศอินโดนีเซีย เราจะพบว่าสภาพพื้นที่การพัฒนาตามแนวทาง TOD ของเมืองเก่าปัตตาเวีย มีความคล้ายคลึงกับพื้นที่เมืองเก่าของประเทศไทยในหลายๆ พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ไปจนถึงพื้นที่อาคารห้องแถวเก่าแก่ย่านถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร พื้นที่เมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต และพื้นที่อื่นๆ ที่เราสามารถพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ไม่ทำลายวิถีชีวิตชุมชน ด้วยการพัฒนาเส้นทางคมนาคม และปรับปรุงข้อกฎหมายเพื่อช่วยในการอนุรักษ์พื้นที่ สร้างโครงข่ายทางเดินเท้าที่เชื่อมต่อทุกมุมเมือง ออกแบบระบบขนส่งสาธารณะที่ทำให้นักท่องเที่ยวทุกคนรู้สึกว่า สามารถเดินทางมาเที่ยวชมได้ง่าย โดยแทบไม่แตะต้องสิ่งเดิมๆ ที่เคยมี นอกจากการบูรณะโบราณสถานให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนั้นสืบไป
ติดตามข่าวสารและบทความเกี่ยวกับ The Sustain – ธุรกิจและความยั่งยืน พลังงาน ภาวะโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ