ภาวะโลกร้อน มาตรการกีดดันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี กลายเป็นแรงกดดันให้แบรนด์ต้องหันมา “รักษ์โลก” เคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน “ซีอาร์จี” 1 ใน 4 บิ๊กร้านอาหาร นำร่องโมเดลกรีน สโตร์ของ “เคเอฟซี” สาขาแรกที่โรบินสัน ราชพฤกษ์ ส่องไฺฮไลต์
ภารกิจ “รักษ์โลก” ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน ไม่ใช่กระแส แต่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะไม่เช่นนั้น อาจโดนหมายหัวจากการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงผู้บริโภค ที่ใช้เป็นเงื่อนไข ในการไม่สนับสนุนแบรนด์ได้
ปีที่ผ่านมา หลายองค์กรทยอยเปิดโมเดลการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน สิ่งไหนนำไปประยุกต์ใช้ได้ก่อน พร้อมลุย เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหาร อย่างแบรนด์ไก่ทอดเบอร์ 1 ของโลกอย่าง “เคเอฟซี” ที่บรรดาแฟรนไชส์ซี ต่างเริ่มงัดร้านคอนเซปต์สีเขียวหรือ Green Store รักษ์โลกมากขึ้นมาเอาใจผู้บริโภค
KFC Green Store ชูแนวคิด “Journey to zero”
“ซีอาร์จี” 1 ใน 3 แฟรนไชส์ซี นำร่องโมเดลร้าน KFC Green Store อย่างเป็นทางการสาขาแรกที่โรบินสัน ราชพฤกษ์ พร้อมชูแนวคิด “Journey to zero” เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า
ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารของ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เล่าถึงการเปิดร้าน KFC Green Store สาขาแรกที่ โรบินสัน ราชพฤกษ์ ให้ความสำคัญตั้งแต่การออกแบบร้าน ที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคยุคใหม่หันมาสนใจและให้ความสำคัญกับประเด็นรักษ์โลก การเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ซีอาร์จี มีความเชี่ยวชาญในด้านการทำธุรกิจอาหาร จึงนำมาต่อยอดและสร้างคุณค่าร่วมกับสังคมควบคู่กันไป ที่สำคัญยังทิศทางดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายของ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ที่ต้องการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในมิติต่างๆ ผ่านแนวคิดการสร้างสรรค์คุณค่าร่วมให้กับสังคม (CSV) เป็นแกนหลักในการทำงาน สร้างพื้นที่แห่งความสำเร็จร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคม
การนำร่องเคเอฟซี กรีน สโตร์ มีไฮไลต์อะไรบ้าง กรุงเทพธุรกิจชวนสำรวจตั้งแต่ตัวอาคารที่ออกแบบสไตล์นอร์ดิก ให้ความรู้สึกหรือ mood & tone ที่อบอุ่น ผ่อนคลาย ยิ่งกว่านั้นคือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติมากขึ้น
ขณะที่วัสดุในกระบวนการก่อสร้างและเทคโนโลยีภายในร้านส่งเสริมแนวคิดเพื่อความยั่งยืน เช่น กระจกประหยัดพลังงานที่ป้องกันความร้อนผ่านกระจกในขณะที่ให้แสงส่องผ่านได้มาก การเลือกใช้ของตกแต่งร้านที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ตลอดจนชุดพนักงานที่ตัดเย็บด้วยผ้าจากเส้นใยขวดพลาสติก
ที่ขาดไม่ได้คือการมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี สเตชั่น) เพื่อรองรับกระแสมาแรงของโลกยานยนต์ ที่หันมาใช้รถอีวีเพื่อลดผลกระทบการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม และขานรับแนวทางธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วย
แบรนด์รักษ์โลกฝ่ายเดียว ย่อมไม่พอที่จะสร้างความยั่งยืน แต่ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมด้วย ทางร้านจึงมุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกในด้านของการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีมุมให้ความรู้และแบ่งปัน(Education & Sharing zone) ผ่านภาพวาดจากการประกวด “สิ่งแวดล้อมในฝันของหนู” ที่นำมาตกแต่งภายในร้าน ซึ่งเป็นผลงานจากฝีมือเด็กที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นอกจากนี้ มีการกระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการลดใช้พลาสติก เพื่อช่วยลดปัญหาขยะ และดำเนินการคัดแยกขยะที่หน้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหาร ขวดพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม กระดาษ และอื่นๆ เพื่อให้ง่ายต่อกระบวนการจัดเก็บ และนำไปแปรสภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนต่าง ๆ ต่อไป
กลับกันอาหารส่วนเกินจากการจำหน่าย ที่มีคุณภาพดีสามารถนำมาบริโภคได้ ผ่านโครงการ Harvest Program ที่รวบรวมและส่งต่อให้กับ “บ้านราชาวดี” เพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชน และผู้ที่ต้องการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจของพนักงาน เนื่องจากสามารถลดจำนวนอาหารที่จะต้องทิ้งในแต่ละวัน
ปัจจุบัน “เคเอฟซี” คือแบรนด์เรือธงของเครือซีอาร์จี มีร้านให้บริการ 320 สาขา โดยปี 2566 บริษัทเตรียมงบลงทุน 400 ล้านบาท เพื่อเปิดร้านใหม่ 30 สาขา และปรับปรุงร้านเดิมอีก 30 สาขา
นอกจากกรีน สโตร์ ร้านรักษ์โลกแล้ว ปี 2566 จะเห็นหมากรบของซีอาร์จี ในการเปิดโมเดล “ช็อป เฮ้าส์” สาขาขนาดเล็กมีที่นั่ง 30-50 ที่ หรือ “ไม่มี” เพื่อ “สปีด” การเติบโต และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายระยะประชิด พร้อมรองรับบริการ “เดลิเวอรี” ที่สำคัญร้านเล็กยังลดงบลงทุนง 40% เมื่อเทียบสาขาปกติด้วย
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก bangkokbiznews