ความแวววาวของกลิตเตอร์ที่มีในเครื่องสำอาง เช่น อายแชโดว์ สร้างสรรค์ลุคให้ดูสวยโดดเด่น แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ากลิตเตอร์ในเครื่องสำอางนั้นอาจทำร้ายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกลิตเตอรจัดเป็นไมโครพลาสติกชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกำจัดได้ยาก
ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสหรือปีใหม่เราจะสังเกตว่ามีเมกอัพคอลเลกชันที่มีความแวววาวของกลิตเตอร์ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกลิตเตอร์ (Glitter) อาจจะสร้างความสวยงามก็จริงแต่อาจแฝงไปด้วยอันตรายที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยคุณสมบัติในการสะท้อนแสงให้แวววาวและติดทนนาน สามารถเกาะติดได้กับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะผิวหนังสิ่งของ เส้นผม หรืออาหาร
ปัจจุบันแบรนด์เครื่องสำอางหลายแบรนด์ยกเลิกการผลิตเครื่องสำอางที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ผลิตเครื่องสำอางที่ผสมกลิตเตอร์ในผลิตภัณฑ์พิเศษในช่วงเทศกาล
ทำไมกลิตเตอร์ถึงไม่เป็นมิตรกับโลก?
กลิตเตอร์มักทำจากอลูมิเนียมและพลาสติกผสมกัน ถือเป็นไมโครพลาสติกชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากไมโครพลาสติกอื่นๆ ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็ก ระหว่าง 5 มิลลิเมตร – 1 ไมโครเมตร โดยกลิตเตอร์ในเครื่องสำอางถูกมองข้ามถึงอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมและถูกใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อความสวยงาม
อย่างที่รู้กันดีว่าไมโครพลาสติกเป็นปัญหาที่อันตรายอยางมากต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพของมนุษย์ด้วย และจากการศึกษาใหม่ๆ ยังคงเน้นย้ำว่าไมโครพลาสติกมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากมายมหาศาล อย่าง การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งในเดือนมิถุนายน ปี 2020 พบว่าไมโครพลาสติกสามารถลอยอยู่ในอากาศและตกลงมาท่ามกลางสายฝนได้
นักวิจัยจากหน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลียพบว่า ไมโครพลาสติกจำนวน 9.25-15.87 ล้านตัน ปนเปื้อนอยู่ในทะเล กลิตเตอร์ยังถูกพบในตัวอย่างจากน้ำแข็งอาร์กติกและในท้องของวาฬ และคาดว่ามนุษย์จะบริโภคกลิตเตอร์เหล่านี้ไปประมาณ 5 กรัมทุกสัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบเลยทีเดียว
ปีนี้ผู้ค้าปลีกในอังกฤษหลายราย รวมถึง Morrisons, Waitrose และ John Lewis ได้ประกาศว่าจะไม่มีกลิตเตอร์ในผลิตภัณฑ์คริสต์มาสของแบรนด์ร้านค้าของตน เช่น กระดาษห่อของขวัญและถุงของขวัญ ซึ่งได้นำกลิตเตอร์และพลาสติกออกจากช่วงเทศกาลในปีนี้ เพื่อลดภาระและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน Journal of Hazardous Materials พบว่ากากเพชรส่งผลเสียต่อระบบนิเวศของแม่น้ำและทะเลสาบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปัจจุบันเรากำลังสร้างขยะมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันหยุด ซึ่งตามการประมาณการแล้ว เราทิ้งขยะมากขึ้น 25% หรือ 1 ล้านตันในแต่ละสัปดาห์ และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ กระดาษห่อของขวัญ ที่ปกติจะรีไซเคิลได้ หากกระดาษของขวัญมีกลิตเตอร์ผสมอยู่จะทำให้รีไซเคิลแทบไม่ได้เลย
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก springnews