7 ตัวบ่งชี้ที่สำคัญของเมืองน่าอยู่ ช่วยทำให้ กรุงเทพน่าอยู่
- ผู้คนในเมืองรู้สึกปลอดภัย รู้สึกผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Inclusive city)
- ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (Sustainability)
- การมีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม (Affordable housing)
- มีโครงข่ายขนส่งสาธารณะ เส้นทางเดินและทางจักรยานที่เชื่อมที่อยู่อาศัยเข้าสู่แหล่งงาน โรงเรียน ร้านค้า สวนสาธารณะ โรงพยาบาล สถานที่พักผ่อนทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม (Connectivity and accessibility)
- สังคมที่พึ่งพาอาศัยกัน ให้เกียรติกัน (Dependent Society)
- สาธารณูปโภคที่ดี (Public utility)
- สุขภาพที่ดี มีกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกาย (Healthy)
แนวคิดเมืองน่าอยู่นี้มีที่มาจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization (WHO)) ซึ่งแต่เดิมนั้นทางองค์การอนามัยโลกใช้คำว่า “Healthy Cities” ซึ่งแปลว่า “เมืองสุขภาพ” หรือ “เมืองสุขภาพดี”
ประเทศไทยโดยกรมอนามัยได้นำแนวคิดนี้เข้ามาบรรจุในยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองในปี พ.ศ.2537 โดยมีเป้าหมายการพัฒนาเพื่อให้คนในเมืองมีสุขภาพที่ดี การพัฒนาตามแนวคิดนี้ครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงการพัฒนาทางกายภาพ การจัดสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้าง บริการสาธารณะ รวมถึงในการตัดสินใจอนุรักษ์หรือทำลายสิ่งใดภายในเมือง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการมุ่งสู่ความเป็นสุขหรือสุขภาวะของคนและสังคมเป็นประเด็นหลัก ทำให้บางครั้งแนวคิดนี้ถูกเรียกว่า “เมืองสุขภาวะ”
หลักการของการเป็นเมืองสุขภาวะ (Healthy City)
ประกาศโดยองค์การอนามัยโลกสาขายุโรป (WHO, Regional Office for Europe) ประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- สภาพแวดล้อมทางกายภาพและที่อยู่อาศัยที่สะอาดและปลอดภัย
- การรักษาระบบนิเวศให้สมดุลและยั่งยืน
- ชุมชนที่เข้มแข็ง ช่วยเหลือเกื้อกูลและไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตน การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชุมชนโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
- การตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของคนในเมือง เช่น อาหารและน้ำ อาชีพ รายได้ ความปลอดภัย เป็นต้น
- การเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงกิจกรรมและทรัพยากรภายในเมืองอย่างทั่วถึง โดยส่งเสริมให้ผู้คนมีการติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
- การสนับสนุนนวัตกรรมทางเศรษฐกิจโดยส่งเสริมให้เกิดความหลายหลายและมีชีวิตชีวา
- การสืบสานประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมของผู้ที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่
- การควบคุมรูปทรงให้กลมกลืนหรือส่งเสริมรูปลักษณะดั้งเดิม
- การมีบริการสาธารณสุขที่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง
- การที่คนในเมืองมีสุขภาพดีและมีจำนวนผู้ป่วยน้อย
จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของเมืองสุขภาพดีหรือเมืองสุขภาวะนั้น ครอบคลุมทั้งสุขภาพของคน สุขภาวะของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงความรู้สึกของคนต่อบริบทของเมือง ในขณะที่การใช้คำว่าเมืองสุขภาพดีไม่สามารถครอบคลุมหรือสื่อความหมายที่ชัดเจนได้ จึงมีการขยายความแนวคิดนี้ด้วยการใช้คำว่า เมืองน่าอยู่ (Livable city)
ซึ่งหมายความครอบคลุมถึงพื้นที่เมืองที่อำนวยความสุข สร้างสุขภาพและสุขภาวะที่ดีให้กับผู้คนภายในเมืองหลักสิบประการของความเป็นเมืองน่าอยู่
กำหนดโดย American Institute of Architects (AIA) มีดังนี้
- Design on a human scale ออกแบบพื้นที่ให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับการใช้งานของมนุษย์ โดยใช้ระยะการเดินเท้าเป็นตัวกำหนดขอบเขต กำหนดให้มีร้านค้า ที่ทำงานและบริการสาธารณะอยู่ในระยะการเดินจากที่อยู่อาศัย เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการจราจรทางรถยนต์และช่วยส่งเสริมสุขภาพของผู้คนในเมือง
- Provide choices สร้างทางเลือกให้ผู้คน มีความหลากหลายของรูปแบบที่พักอาศัย ร้านค้า ตลาด ห้างสรรพสินค้า และระบบคมนาคม สร้างชุมชนที่น่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของคนในวัยและสถานภาพที่แตกต่างกัน
- Encourage mixed-use development ส่งเสริมให้มีการใช้พื้นที่อย่างผสมผสานทั้งรูปแบบของกิจกรรมและอาคาร เพื่อสร้างย่านที่มีชีวิตชีวา ส่งเสริมการเดินเท้าและความหลากหลายของกิจกรรม
- Preserves urban centers เก็บรักษาย่านเดิมหรืออาคารดั้งเดิมที่ทรงคุณค่าในพื้นที่ โดยใช้การซ่อมแซมบูรณะ หรือการสร้างใหม่ภายใต้โครงสร้างของเมืองเดิมเพื่อใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ เป็นการจำกัดเขตการเติบโตของเมืองไม่ให้กระจายออกนอกเขตเมือง
- Vary transportation options สร้างทางเลือกของการสัญจร โดยมุ่งส่งเสริมการเดินเท้า การใช้จักรยาน และการใช้ขนส่งสาธารณะ เพื่อลดปัญหาจราจร รักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ผู้คนในเมืองมีกิจกรรม
- Build vibrant public spaces สร้างพื้นที่สาธารณะที่น่าใช้งาน เพื่อให้ผู้คนมีพื้นที่พักผ่อนและเพิ่มโอกาสในการพบปะปฏิสัมพันธ์ ทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในสังคม
- Create a neighborhood identity สร้างSense of Placeหรืออัตลักษณ์ของพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนมีความแตกต่าง น่าสนใจ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชน
- Protect environmental resources รักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ ควบคุมการพัฒนาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ป้องกันแหล่งน้ำจากการเกิดมลพิษ ป้องกันการเกิดมลพิษทางอากาศ และรักษาคุณค่าดั้งเดิมของพื้นที่
- Conserve landscapes อนุรักษ์ลักษณะภูมิทัศน์วัฒนธรรมของพื้นที่ เพื่อคงความสมดุลของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมพื้นถิ่น
- Design matters การออกแบบที่เหมาะสมเป็นพื้นฐานสำคัญของชุมชนน่าอยู่ที่ประสบความสำเร็จ
ในประเทศไทยเอง สมาคมสถาปนิกชุมชนเมืองไทย ได้กล่าวถึง “เมืองน่าอยู่และชุมชนน่าอยู่” ในการประชุมเรื่อง เมืองน่าอยู่และการประหยัดพลังงาน (Livable City and Energy Saving) พ.ศ.2547 ว่าหมายถึง
“ชุมชนที่อยู่อาศัยทั้งในเขตเมืองและชนบทที่มีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี มีสังคมที่เอื้ออาทรมีชุมชนที่เข้มแข็งมีความสะดวกสบายปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีระบบเศรษฐกิจดีมั่นคงมีวัฒนธรรมและจิตวิญญาณที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองและชุมชน”
นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้จัดโครงการประกวดเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันก็กำลังพัฒนาให้กลายมาเป็น “กรุงเทพเมืองน่าอยู่” ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติในอนาคตอันใกล้นี้
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก medium