คลังเสนอ ครม.ภายใน ต.ค. นี้ให้มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนธุรกิจน้ำมัน แบตเตอรี เพื่อดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ คาดพ.ร.บโลกร้อนบังคับใช้ได้ในปี 2569

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายการเงินสีเขียว รับมือภาวะโลกเดือด” ในงานสัมมนา “Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green” ตอนหนึ่งว่า กระทรวงการคลังจะเสนอการจัดเก็บภาษีคาร์บอนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันภายในปี 2567 ซึ่งการเก็บภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax นั้นเนื่องจากผู้ผลิตที่ไม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมไม่ได้ถูกจ่ายราคาในการสร้างมลพิษ

ฉะนั้นจะต้องมีราคาของคาร์บอน (Carbon price) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอนเข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น หรือเป็นราคาที่ประชาชนจ่ายภาษีน้ำมันเท่าเดิม แต่จะมีราคาของคาร์บอนอยู่ในสินค้าที่ผลิตคาร์บอน ซึ่งจะเกิดแรงจูงใจการผลิตสินค้าที่มีคาร์บอนต่ำลง สร้างแรงจูงใจให้ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต นอกจากนี้ จะพิจารณาภาษีแบตเตอรี่ระบบขั้นบันได เพื่อให้ผู้ผลิตผลิตแบตเตอรี่สะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เก็บภาษีคาร์บอน ธุรกิจน้ำมัน แบตเตอรี เพื่อดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

เก็บภาษีคาร์บอน ผู้สร้างมลพิษมีราคาต้องจ่าย บีบใช้พลังงานสะอาด

.ส.รัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวในหัวข้อ “ภาษีคาร์บอน กลไกขับเคลื่อน เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ว่า กลไกราคาคาร์บอนจะมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 372 ตันคาร์บอนต่อปี ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานและภาคขนส่งคิดเป็น 70% รองลงมาเป็นภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย ขณะนี้เหลือเวลาอีก 6 ปี ที่จะต้องพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2030 จาก 555 ล้านตันคาร์บอน ลงมาที่ 333 ล้านตันคาร์บอน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมี พ.ร.บ. Climate Change มาบังคับใช้ กรมสรรพสามิตจะเสนอ ครม.ให้มีการเก็บภาษีของสินค้าที่ปล่อยมลพิษสูงและอยู่ในพิกัดสรรพสามิต ไม่กระทบต่อผู้ใช้น้ำมัน เบื้องต้นอาจจะพิจารณากำหนดราคาคาร์บอนเป็นราคาเดียว เช่น 200 บาท หรือประมาณ 6 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับมติ ครม. เมื่อนำราคาคาร์บอนไปคำนวณกับปริมาณเชื้อเพลิงก็จะได้ออกมาเป็นกลไกราคาคาร์บอนที่อยู่ในเชื้อเพลิงแต่ละประเภท ซึ่งน้ำมันที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดคือ LPG รองลงมาน้ำมันเตา ดีเซล และเบนซิน

ด้าน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือกรมลดโลกร้อน (DCCE) กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ Action Green Transition ได้กลายเป็นแนวคิดสำคัญที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก โดยไทยได้วางแผนเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions” ภายในปี 2065 (พ.ศ. 2608)

EMISSIONS คืออะไร เก็บภาษีคาร์บอน ธุรกิจน้ำมัน แบตเตอรี เพื่อดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ มีเป้าหมายระยะสั้นคือ การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ที่ 30-40% ภายในปี 2573 ขณะนี้แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ทั้งภาคพลังงาน ขนส่ง เกษตร ของเสีย และอุตสาหกรรม ได้เสร็จสิ้นแล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อบังคับใช้ (เป้าหมาย NDCs ของประเทศไทยในปี 2030 อยู่ที่ร้อยละ 20 หรือคิดเป็น 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)

สำหรับเป้าหมายใหม่ในปี 2035 ภายใต้ความตกลงปารีส ซึ่งมีกำหนดส่งภายใน 1 ก.พ. 2568 ไทยตั้งเป้าจะดำเนินการให้ทัน แม้จะมีความท้าทาย เนื่องจากทั่วโลกต้องการเห็นการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 60% โดยเฉลี่ย

อย่างไรก็ตาม กรมลดโลกร้อนกำลังเร่งผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ซึ่งประกอบด้วย 14 หมวด แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1. การลดก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลเป็นรายองค์กร 2. กลไกการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading) ของภาคอุตสาหกรรมเป็นรายสาขา 3. การจัดสรรสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความสามารถในการผลิตและปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา

ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการทางกฎหมายแล้ว 14 ครั้ง เหลืออีก 2 ครั้งที่จะเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในเดือนต.ค. นี้ จากนั้นจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับหลักการและส่งไปยังกฤษฎีกาตรวจร่าง ซึ่งตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน แต่คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของ ครม.ภายในปี 2568 และจะสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2569 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ออกมาเพื่อเพื่อฆ่าธุรกิจไทย แต่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero บนพื้นฐานของความยั่งยืน

กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกช่วยสนับสนุนการจัดเก็บภาษีคาร์บอน เเละ Emission Trading Scheme หรือ ETS คือการซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอนเป็นการการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap) ของผู้ผลิต [ผู้ผลิตแต่ละรายจะได้รับโควต้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาครัฐในรูปของใบอนุญาต หากปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าจำนวนในใบอนุญาต ผู้ผลิตนั้นๆ สามารถขายต่อใบอนุญาตที่เหลือแก่ผู้ผลิตรายอื่นได้ ในทางกลับกันหากผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินโควตาที่ได้รับก็ต้องซื้อใบอนุญาตต่อจากผู้ผลิตรายอื่น]

ดร.พิรุณ กล่าวว่า นอกจากนี้จะมีการตั้งกองทุนภูมิอากาศ โดยจะมีแหล่งเงินจากหลายแหล่ง เบื้องต้นจะขอจากรัฐบาลไม่เกิน 5,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปี จากนั้นจะมีแหล่งเงินจากการประมูลสิทธิ์ก๊าซเรือนกระจกและมีแหล่งเงินจากการขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศที่เป็นค่าธรรมเนียมที่ต้องเก็บ

อนึ่ง Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนคือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น ส่วน Net Zero Emissions หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุลเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า Net Zero Emissions ได้ก็แปลว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้

สำหรับงานสัมมนา “Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก igreenstory

ร่วมกันพลิกวิฤติโลกเดือด สู่โลกอนาคตที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน Sustainability Expo 2024 (SX 2024)

Previous article

21 ตุลาคม วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ เพราะต้นไม้ให้เรามากกว่าแค่ร่มเงา แต่ให้ชีวิตแก่เรา

Next article

You may also like

More in Life