รายงานกรีนพีซเปิดเผยว่า พลาสติกถูก รีไซเคิล น้อย ต้องส่งเสริมการใช้ซ้ำแทนการรีไซเคิล
กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงาน ‘ข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนล้มไม่เป็นท่าอีกหน’ (Circular Claims Fall Flat Again)’ ที่พบว่า มีขยะพลาสติกเพียง 2.4 ล้านตัน จากทั้งหมด 51 ล้านตัน เท่านั้น ที่ถูกนำไปรีไซเคิล และจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์
อัตราการรีไซเคิลพลาสติกลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากในปี 2014 ซึ่งถือว่าสัดส่วนการรีไซเคิลขยะพลาสติกสูงสุดอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ การรีไซเคิลก็ค่อยๆ ลดลง โดยเฉพาะหลังจากที่จีนหยุดรับขยะพลาสติกในปี 2018
ขณะเดียวกัน การผลิตพลาสติกชนิดที่รีไซเคิลไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกันกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีต้นทุนต่ำลง
แม้กลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทใหญ่ๆ ได้ผลักดันให้การรีไซเคิลเป็นทางออก แต่ ลิซ่า แรมสเดน (Lisa Ramsden) ฝ่ายรณรงค์กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า บริษัทเหล่านี้ไม่รับประกันว่าการรีไซเคิลเป็นไปได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็น โคคา-โคล่า เป๊ปซี่ ยูนิลีเวอร์ และเนสท์เล่
ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ชี้ว่า โรงงานรีไซเคิลส่วนใหญ่ไม่รับพลาสติก 5 ประเภทจากทั้งหมด 7 ประเภท เพราะว่าแยกประเภทยาก และมักปนเปื้อนสารพิษ
จากการสำรวจของกรีนพีซที่เผยแพร่รายงานเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2022 มีพลาสติกเพียง 2 ประเภท ที่โรงงานรีไซเคิลกว่า 375 แห่งในสหรัฐอเมริกายอมรับ ประเภทแรกคือ พลาสติกโพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท (polyethylene terephthalate) หรือที่รู้จักกันว่า PET ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นขวดน้ำดื่ม และประเภทที่สอง โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (high-density polyethylene) หรือ HDPE ในรูปขวดนม แชมพู และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ
ทั้งนี้พลาสติก PET และ HDPE เข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ในอัตรา 21 เปอร์เซ็นต์และ 10 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ลดลงเล็กน้อยจากการสำรวจของกรีนพีซ สหรัฐอเมริกา ในปี 2020 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นพลาสติกประเภทเดียวกัน แต่ว่าไม่สามารถรีไซเคิลด้วยกันได้ เช่น ขวด PET ที่ย้อมสีเขียวไม่สามารถรีไซเคิลพร้อมกับขวดใสได้
ส่วนพลาสติกประเภทอื่นๆ ใน 7 ประเภทนอกเหนือจาก PET และ HDPE ซึ่งใช้ในของเล่นเด็ก พลาสติกห่ออาหาร แก้วโยเกิร์ต เนย แก้วกาแฟ และกล่องพลาสติกใส่อาหารแบบซื้อกลับ ถูกนำมารีไซเคิลน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์
รายงานระบุถึง 5 เหตุผลที่ทำให้การ รีไซเคิล พลาสติกล้มเหลว
1. เป็นเพราะขยะพลาสติกมีปริมาณมหาศาล และเก็บรวบรวมได้ยากมาก
2. การแยกประเภทขยะพลาสติกนับล้านล้านชิ้นในแต่ละปีเป็นเรื่องยากมาก พลาสติกต่างประเภทก็ใช้วิธีจัดการแตกต่างกัน
3. กระบวนการรีไซเคิลเองเป็นอันตรายในตัวมันเอง คนงานได้รับสารพิษ และมันยังสร้างไมโครพลาสติกอีกด้วย
4. พลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลมีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนจากการที่มีพลาสติกหลายชนิดปะปนกัน ทำให้ไม่สามารถนำมาบรรจุอาหารได้อีก
5. เพราะกระบวนการรีไซเคิลแพง พลาสติกที่ผลิตออกมาใหม่ราคาถูกกว่าและมีคุณภาพมากกว่าพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิล
ปัญหานี้ไม่ใช่ระดับบุคคล ที่คนไม่ยอมรีไซเคิลพลาสติก หรือทิ้งขยะผิดถัง แต่ต้องอาศัยนโยบายและการออกกฎหมาย กรีนพีซให้ความเห็นว่า การรีไซเคิลไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤติขยะพลาสติก
เพราะว่ามีพลาสติกมากเกินไป เราต้องให้ความสำคัญไปที่การลดพลาสติก ลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง มุ่งไปสู่การใช้ซ้ำ พร้อมทั้งแนะนำว่า ก้าวแรก เพื่อลดความสับสน บริษัทต่างๆ ควรเลิกใส่สัญลักษณ์รีไซเคิลลงไปในผลิตภัณฑ์พลาสติก เพราะมันไม่เคยถูกรีไซเคิลเลย และควรหันไปมาส่งเสริมการใช้ซ้ำ
เช่น การสร้างระบบคนส่งนมที่เปลี่ยนมาใช้ขวดแก้ว เพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก plus.thairath