เป็นเรื่องน่ายินดีมากหลังจากที่ประชุมประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2566 โหวตผ่านร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. …หรือร่างกฎหมายรถเมล์อนาคต ในวาระ 2-3 ด้วยคะแนน 30:0 ผ่านฉลุย โดยร่างกฎหมายนี้เสนอโดย สก. พรรคก้าวไกล ซึ่งก่อนนี้ผ่านวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2566
ข้อบัญญัติรถเมล์อนาคตฉบับนี้เป็นข้อบัญญัติแรกในรอบ 22 ปีที่ถูกเสนอโดยฝ่ายสภา กทม. จากในอดีตเมื่อปี 2450 คนกรุงเดินทางด้วยรถที่ใช้ม้าลากจูง ซึ่งถือเป็นรถเมล์สายแรก กระทั่งต่อมาเปลี่ยนมาเป็นเครื่องจักร มีรถเมล์ร้อน รถปรับอากาศที่ได้ขยายเส้นทางและปรับมาใช้ NGV เพื่อลดมลพิษอากาศ เรียกได้ว่ามีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
ทว่า ที่น่าตกใจก็คือเมืองหลวงของประเทศไทย คนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะยังต้องนั่งรถเมล์ร้อนในการเดินทาง และต้องใช้งบฯ อุดหนุนถึงปีละร่วม 2,000 ล้านบาท ทั้งที่งบประมาณจำนวนนี้สามารถนำไปซื้อรถเมล์ปรับอากาศและรถไฟฟ้าก็ได้
ดังนั้นการออกข้อบัญญัติให้มี รถเมล์ EV มาวิ่งใน กทม.ได้ในอีก 7 ปีข้างหน้าถือเป็นความก้าวหน้าของคำว่า “เมืองหลวง”
“วันนี้ดิฉันได้พบแล้วว่า จุดสูงสุดของการเป็นนักการเมือง คือการได้ทิ้งคุณภาพชีวิตที่ดีไว้ให้พี่น้องประชาชน แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้วก็ตาม” น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สก.เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวระหว่างอภิปราย และต่อมาสภา กทม.ก็โหวตลงคะแนนเสียง
ข้อบัญญัตินี้จะทำให้รถเมล์ที่วิ่งใน กทม. ต้องเป็นรถไฟฟ้า (EV) ทั้งหมด โดยมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 7 ปี เพื่อบรรลุเป้าหมายลดฝุ่น PM2.5 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มอบคุณภาพอากาศที่ดีให้ประชาชน รวมถึงพัฒนาคุณภาพการให้บริการรถเมล์ ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีผู้ใช้งานหลักล้านคน
นอกจากนี้ สก.ก้าวไกลยังมีร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว โดยจะกำหนดให้ผู้ที่จะสร้าง ซ่อมแซม หรือต่อเติมอาคารใหม่จะต้องมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็น 50% ของพื้นที่ว่างนอกอาคาร
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก igreenstory