ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโลกรวน ขยะพลาสติก มลพิษทางน้ำและอากาศ รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อภาคสังคม แต่ยังรวมถึงภาคเศรษฐกิจด้วย
โดยจากรายงานของ World Economic Forum เรื่อง “Nature Risk Rising: Why the Crisis Engulfing Nature Matters for Business and the Economy” ระบุว่า เกินกว่าครึ่งของ GDP โลก (หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 44 ล้านล้านดอลลาร์ ) ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำเนินธุรกิจ ลองนึกภาพว่าหากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้สูญสลายไป จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจของโลกใบนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมวันนี้พวกเราทุกคนต้องกลับมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
แน่นอนว่า การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน หรือวิถีในการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจไม่ใช่เรื่องง่าย และถือเป็นความท้าทายที่หลายหน่วยงานทั่วโลกต้องเผชิญ โดยเฉพาะภาคธุรกิจซึ่งมีหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน อาทิ นโยบายจากภาครัฐ กลไกตลาด ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการสนับสนุนจากนักลงทุน
สำหรับเทคคอมพานี ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการขับเคลื่อนและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งองค์การสหประชาชาติระบุว่า ปริมาณการปล่อยคาร์บอนของเทคคอมพานีมีสัดส่วนถึง 2 – 3% ของทั้งโลก ดังนั้นที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นความพยายามในการรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของบริษัทเหล่านี้
โดยบริษัทใหญ่ๆ เริ่มมีการกำหนดเป้าหมายและแผนงานในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง อาทิ บริษัท Apple ซึ่งเป็นเทคคอมพานีแรกๆ ที่นำร่องเรื่องความยั่งยืน โดยได้มีการระบุแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ จนสามารถพิชิตเป้าหมายแรกในการสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutral) หรือ การปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าให้กับทุกพื้นที่ในการดำเนินธุรกิจของ Apple ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ สำนักงาน หน้าร้านสาขาจนถึงดาต้าเซ็นเตอร์ได้สำเร็จในปี 2563
Apple ยังดำเนินตามเป้าหมายระยะยาวโดยมุ่งทำให้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการผลักดันให้บริษัทคู่ค้าเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด พร้อมหาทางเปลี่ยนวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ภายในปี 2573 โดยวางแผนดำเนินงาน5 แกนสำคัญ ได้แก่
การลดคาร์บอนในผลิตภัณฑ์ ด้วยการเริ่มนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในผลิตภัณฑ์ การลดการใช้พลังงานในวงจรการผลิต การผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างประสิทธิภาพให้กับวงจรการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ และ การดำเนินกิจกรรมชดเชยคาร์บอน เช่นเดียวกับแกร็บที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
พร้อมกำหนดเป้าหมายที่จะทำให้แพลตฟอร์มมีความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2583 ผ่าน 4 แนวทางสำคัญ คือ 1.ผลักดันให้พาร์ทเนอร์คนขับหันมาใช้ยานพาหนะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำหรือใช้พลังงานสะอาด ด้วยการจับมือกับภาครัฐ รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจในการจัดทำโครงการสินเชื่อ หรือการเปิดให้เช่ารถไฟฟ้า
โดยในประเทศไทยเราตั้งเป้าผลักดันให้พาร์ทเนอร์คนขับใช้รถ EV ให้ได้ถึง 10% ของจำนวนรถทั้งหมดในระบบภายในปี 2569
2.เปลี่ยนให้ทุกพื้นที่ที่เราดำเนินธุรกิจหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันทุกสำนักงานของแกร็บได้เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดแล้วตั้งแต่ปี 2564
3.มุ่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพาร์ทเนอร์คนขับ เช่น การใช้ระบบ AI ในจัดสรรงานหลายคำสั่งซื้อ (งานแบช) เพื่อย่นระยะทางในการเดินทาง
4.ดำเนินกิจกรรมชดเชยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดฟีเจอร์ชดเชยคาร์บอนให้ผู้ใช้บริการร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนการ ปลูกต้นไม้ในทุกการเดินทางหรือการสั่งอาหาร
พร้อมสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในฐานะผู้นำซูเปอร์แอปในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เราจึงมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องความยั่งยืนให้กับสังคม โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก
ดังเช่นแนวคิด “Invest in Our Planet” ของวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ที่รณรงค์ให้ทุกคนหันมาใส่ใจ สละเวลาและลงทุนกับสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกของเรา โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงภาคประชาชนอย่างพวกเราด้วยเช่นกัน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างโลกที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1063513
ติดตามข่าวสารและบทความเกี่ยวกับ The Sustain – ธุรกิจและความยั่งยืน พลังงาน ภาวะโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ