ความยั่งยืน : โคเวสโตร เดินหน้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี ค.ศ. 2030 ลง 60% และสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2035 พัฒนากระบวนการผลิต นวัตกรรม ใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน ภายในโรงงาน
พลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีทั้งพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และ พลาสติกที่สามารถใช้ได้ในระยะยาว เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง มีความทนทาน ถูกนำไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ฉนวนกันความร้อน อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอุตสาหกรรมพลาสติกในกลุ่มใดก็จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อให้ตลอดห่วงโซ่เกิดความอย่างยั่งยืนมากที่สุด
บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตวัสดุโพลิเมอร์และส่วนประกอบทางโพลิเมอร์คุณภาพสูงซึ่งมีโรงงานกว่า 50 แห่งทั่วโลก มุ่งมั่นแก้ปัญหาความท้าทายของโลกทั้งด้านสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และการขยายตัวของเมือง ด้วยผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมโซลูชั่นที่หลากหลาย พลาสติกคุณภาพสูง ที่จะเป็นกุญแจสำคัญสู่ ความยั่งยืน ในอนาคต
นวัตกรรมของโคเวสโตร เรียกว่าเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหลัก เช่น การเดินทางและการขนส่ง อาคารและที่อยู่อาศัย ตลอดจนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ โพลีเมอร์จากโคเวสโตร ยังใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น กีฬาและสันทนาการ เครื่องสำอางและสุขภาพ ตลอดจนในอุตสาหกรรมเคมี
ที่ผ่านมา โคเวสโตร ได้มุ่งมั่นในการก้าวไปสู่การหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงผลักดันการลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตผลิตภัณฑ์ โดยภายในปี ค.ศ. 2030 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60% ของทั้งหมด และ ตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2035
ดร.ทีโม สลาวินสกี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า โคเวสโตรได้พัฒนาในเรื่องของกระบวนการผลิต นวัตกรรม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น พัฒนาให้น้ำหนักเบา ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันของมนุษย์ รวมถึงเมกะเทรนต่างๆ ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นความท้าทายของโลกทั้งด้านสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น การขยายตัวของเมือง
“พลาสติกที่โคเวสโตรผลิต เป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง มีความทนทาน โดยนำไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โพลีคาร์บอเนต ทดแทนเหล็ก ทำให้ชิ้นส่วนในรถยนต์มีน้ำหนักเบาขึ้นและประหยัดพลังงาน หรือ ผลิตภัณฑ์ฉนวนกันความร้อนจาก โพลียูรีเทน ช่วยลดการใช้พลังงานในการเปิดแอร์ เป็นต้น”
ปี 2035 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
ดร.ทีโม กล่าวต่อไปว่า โคเวสโตร ให้ความสำคัญกับ ความยั่งยืน ผ่านการพัฒนาสินค้า โดย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ส่วนแรก พยายามมุ่งมั่นที่จะทำให้กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูง และใช้พลังงานสะอาด ส่วนที่สอง พัฒนานวัตกรรม โซลูชั่น ตอบโจทย์การสร้าง ความยั่งยืน ให้ลูกค้าและสิ่งแวดล้อม และ สุดท้าย คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
ที่ผ่านมา โคเวสโตรได้ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 50% ในปี ค.ศ. 2025 (จากปี ค.ศ. 2005) ซึ่งสามารถทำสำเร็จแล้วในปี ค.ศ. 2021 ที่สามารถลดได้ 54% เป้าหมายต่อไป คือ ภายในปี ค.ศ. 2030 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60% อีกทั้งใน ปี ค.ศ. 2035 เดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
“เหตุผลที่สามารถบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกได้เร็ว เพราะตั้งแต่ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา โรงงานของโคเวสโตรโดยเฉพาะโรงงานใหม่ พยายามหาวิธีการลดการใช้พลังงาน และมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิต ดังนั้น ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานได้มากขึ้นภายใต้ผลิตผลที่เพิ่มขึ้นแต่การใช้พลังงานลดลงหรือคงที่ได้”
ก้าวสู่ โรงงาน ความยั่งยืน
ทั้งนี้ โคเวสโตร มีกระบวนการติดตามการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตทั้งระดับมาก ปานกลาง หรือ น้อย ทำให้สามารถมอนิเตอร์ได้ว่าการใช้พลังงานเป็นอย่างไรและสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 และมีการพัฒนาปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในประเทศไทย โรงงานผลิตในมาบตาพุด ได้สนับสนุนวาระนานาชาติด้านความยั่งยืนผ่านหลายโครงการ อาทิ เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการ ใช้ไบโอดีเซลสำหรับกิจกรรมทางโลจิสติกส์ภายในโรงงาน การเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงทดแทนที่ เผาไหม้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นทำให้สามารถลดคาร์บอนฟุตพรินท์ภายในห่วงโซ่คุณค่าได้มากกว่าเดิม การริเริ่มการผลิตแบบสมดุลมวลสาร ซึ่งโคเวสโตร ได้รับการรับรองจาก ISCC Plus Certificate นอกจากนี้บริษัทกำลังวางแผนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต เพื่อลด มลพิษทางน้ำและอากาศอีกด้วย
นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมา ได้ทำการเปิดตัวศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรม พลาสติกเพื่อความยั่งยืนอย่างเป็นทางการ เป้าหมายหลัก คือ การมอบพื้นที่นอกห้องเรียนสำหรับเด็กไทยในการเรียนรู้เกี่ยวกับ ความสำคัญ ของการจัดการขยะพลาสติก อย่างถูกวิธี ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในโรงเรียนที่อยู่รอบๆ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และจังหวัดใกล้เคียง
“การที่จะทำให้โลกยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคนไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง เพราะเราต้องรักษาโลกให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคต ทุกอุตสาหกรรม ทุกคน ต้องให้ความสนใจ และต้องลงมือทำอย่างจริงจัง” ดร. ทีโม กล่าว
โลจิสติกส์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สินค้าของโคเวสโตรกว่า 70% ใช้รถบรรทุกในการขนส่ง ในขณะที่ในยุโรปและอเมริกาเหนือใช้การขนส่งทางถนนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น เนื่องจากใช้การขนส่งทางน้ำและทางรถไฟมากกว่า ในปีที่ผ่านมา โคเวสโตรทำโครงการนำร่องร่วมกับพาร์ทเนอร์ในประเทศจีน คิดค้นโซลูชั่นโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งระบบนิเวศอุตสาหกรรม ทดลองใช้รถบรรทุกไฟฟ้า และ ไบโอดีเซล รวมถึง รถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น ซึ่งโครงการบางอย่างที่ได้ทดลองใช้จะถูกนำมาใช้งานจริง โดยจะมีการประเมินต้นทุนและประโยชน์ที่ได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นในการเลือกใช้วัตถุดิบชีวมวล วัตถุดิบรีไซเคิล และไฮโดรเจนสีเขียว โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิด “CQ” (Circular Intelligence) ซึ่งใช้วัตถุดิบทางเลือกมาใช้ในการผลิตสินค้าอย่างน้อย 25% ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญทางด้านการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ
เปลี่ยนของเสียให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีค่า ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ที่นอน Evocycle® CQ โดยร่วมกับพาร์ทเนอร์ นำโฟมจากที่นอนเก่าที่หมดอายุการใช้งานแล้ว นำกลับมาใช้เป็นสารตั้งต้นของโพลียูรีเทนอีกครั้ง โดยดำเนินการโรงงานนำร่องในเมืองเลเวอร์คูเซ่น เป็นต้น
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก bangkokbiznews