ซีพีเอฟ 2030 ปฏิบัติการขับเคลื่อนความยั่งยืน
ซีพีเอฟขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ ซีพีเอฟ 2030 ปฏิบัติการขับเคลื่อนความยั่งยืน (CPF 2030 Sustainability in Action) ซึ่งพัฒนาจาก 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน ได้แก่ “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่” เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างสรรค์คุณค่าให้แก่สังคม คืนสมดุลให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน นํ้า ป่า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสําคัญของการผลิตอาหาร ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและปรัชญา 3 ประโยชน์ บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดีและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และหลักสากล 10 ประการตามแนวทางข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประกาศกลยุทธ์ใหม่ “ CPF 2030 Sustainability in Action “ ขับเคลื่อนภารกิจ 9 ความมุ่งมั่น ภายใต้ 3 เสาหลัก อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดิน น้ำ ป่าคงอยู่ สร้างความมั่นคงทางอาหารบนพื้นฐานการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ส่งเสริมสังคมเติบโตไปด้วยกัน ร่วมบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ( SDGs ) ครบ 17 เป้าหมาย
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ กล่าวว่า กลยุทธ์ใหม่ 2030 Sustainability in Action เป็นการปฏิบัติการในช่วง 10 ปีข้างหน้า (ปี 2564 – ปี 2573) เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental Social Governance : ESG) โดยที่บริษัทฯยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้ 3 เสาหลัก อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ สนับสนุนนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ภายในปี 2573 และสนับสนุนเป้าหมาย SDGs ทางตรงได้ครบทั้ง 17 เป้าหมาย “ภายหลังจากประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายปี 2020 ในปีนี้เราได้กำหนดกลยุทธ์ขึ้นใหม่ เน้นการปฏิบัติอย่างจริงจัง และมีเป้าหมายใหม่เพื่อสร้างผลเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดรับกับเป้าหมายของสหประชาชาติ สู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้โลก ขณะเดียวกันบริษัทฯจะส่งต่อความยั่งยืนในระดับบุคคลสู่พนักงานในองค์กรและภายนอก” นายวุฒิชัยกล่าว สำหรับเป้าหมายการดำเนินงาน 9 ความมุ่งมั่น ภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลัก ในด้านอาหารมั่นคง เน้นสร้างความมั่นคงทางอาหารและคิดค้นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคด้วยผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีและเหมาะสมกับทุกช่วงวัย นำระบบดิจิทัลและหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิต ดำเนินการทางการตลาดด้วยความรับผิดชอบ ด้วยการให้ความรู้ด้านโภชนาการและอาหารเพื่อสุขภาพแก่ผู้บริโภค ใส่ใจในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal WelFare) ภายใต้มาตรฐานสากล และนำเทคโนโลยีใช้ในการจัดการฟาร์มในรูปแบบ Smart Farm โดยมีเป้าหมาย50% ของผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้รับการพัฒนาเพื่อสุขภาพที่ดีและมีคุณค่าทางโภชนาการที่มากขึ้น และเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำเป็น 40 % ของยอดขาย เป็นต้น ด้านสังคมพึ่งตน ได้กำหนดเป้าหมายใหม่ คือ สร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้แก่พนักงานและคนในสังคมจำนวน 3 ล้านคน และเป้าหมายให้ความรู้พนักงานได้ครบ 3 ล้านชั่วโมง ด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน ดูแลพนักงานอย่างเท่าเทียม ส่งเสริมการเรียนรู้และประสบการณ์ทำงานที่ดีให้แก่พนักงานโดยมุ่งสู่เป้าหมายเป็น Learning Organization หรือ อิ่มรู้ (Lifelong Learning) เพื่อยกระดับคุณค่าของพนักงานทุกคนในองค์กรซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน และขยายสู่สังคมด้วยการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรในโครงการคอนแทรคฟาร์มที่ดำเนินการมาแล้วมากกว่า 40 ปี จำนวนเกษตรกร ประมาณ 5,000 ราย ด้วยรูปแบบของเกษตรพันธสัญญา การสนับสนุนองค์ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ในโครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่ดำเนินการมามากกว่า 30 ปี มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ฯ 880 โรงเรียน ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและทักษะอาชีพให้แก่เยาวชน สร้างการเข้าถึงอาหารโปรตีนคุณภาพ และโครงการจ้างงานคนพิการ ฯลฯ
ด้านดิน น้ำ ป่า คงอยู่ ซีพีเอฟนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้บริหารทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน พัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดหาวัตถุดิบด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า 100 % และตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ การสร้างคุณค่าปราศจากขยะ (Waste to Value) ทั้งจากบรรจุภัณฑ์และขยะอาหาร โดยมีเป้าหมายลดขยะอาหารในกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นศูนย์ (Zero Food Waste) ภายในปี 2573 การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบก ป่าชายเลน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ ซึ่งดำเนินการไปแล้วรวมมากกว่า 1 หมื่นไร่ และมีแผนจะดำเนินการต่อเนื่อง ในระยะที่ 2 (ปี 2564-2568) เพื่อสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ
ภายใต้กลยุทธ์ใหม่ “CPF 2030 Sustainability in Action” ซีพีเอฟได้ออกแบบสัญลักษณ์ ด้วยการนำแนวคิด 3 เสาหลักเป็นสื่อสัญลักษณ์อยู่ภายในรูปหัวใจ แสดงถึงความมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อประชากรโลก สร้างสรรค์คุณค่าให้แก่สังคม คืนสมดุลทรัพยากรธรรมชาติ ก้าวสู่เป้าหมายการเป็นครัวของโลกที่ยั่งยืน