The Ocean Cleanup เทคโนโลยีลดมลพิษทางทะเลที่ดีที่สุด
คุณรู้ไหมว่า..
ในแต่ละปี… มนุษย์ทิ้งขยะพลาสติกกว่า 300 ล้านตัน
ในแต่ละปี…นกทะเลกว่า 1 ล้านตัวต้องตายเพราะขยะพลาสติกเหล่านี้
และในแต่ละปี…มีสัตว์น้ำจำนวนมหาศาลที่ต้องสังเวยชีวิตตัวเองเพราะขยะมากมาย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าทุกครั้งที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงไปตามแนวชายฝั่ง ขยะชิ้นนั้นก็จะล่องลอยอยู่กลางมหาสมุทรแบบที่ไม่รู้อนาคตและที่แย่ไปกว่านั้นคือทุกวันนี้ มีขยะพลาสติกกว่า 5 ล้านล้านชิ้นลอยอยู่กลางมหาสมุทร ซึ่งนึกภาพไม่ออกเลยว่าต้องใช้เงินมากแค่ไหนและต้องใช้เวลานานเท่าไรในการเก็บขยะเหล่านั้นจนหมด
จากปัญหาดังกล่าว ได้กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้โบยัน สลัต นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยานวัย 16 ปี จากประเทศเนเธอร์แลนด์มีความคิดที่อยากจะกำจัดขยะพลาสติกที่อยู่ในท้องทะเลให้ได้มากที่สุด หลังจากที่มีประสบการณ์ตรงจากการไปดำน้ำที่ประเทศกรีซ แล้วได้ข้อสังเกตว่า ในท้องทะเลนั้นมีขยะพลาสติกมากกว่าจำนวนปลาในทะเลเสียอีก เขาจึงเริ่มศึกษาข้อมูลของมหาสมุทรทั้งด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล ทำให้เขาพบสิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ไม่เพียงแค่เรื่องปริมาณขยะที่มากมายมหาศาลเท่านั้น แต่กระแสน้ำทะเลยังจะพัดเอาขยะเหล่านี้ไปเกยตื้นและพัดกลับมาที่วังวนน้ำ(gyres)ใจกลางมหาสมุทรอีกครั้งด้วย ก่อนที่จะถึงจุดหยุดนิ่งกลายเป็นแพขยะ(Ocean Garbage Patches) และเมื่อขยะเหล่านั้นโดนแสงแดดแผดเผาทุกวัน ก็จะเปราะและแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ และที่ร้ายไปกว่านั้นคือมันจะปล่อยสารพิษเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในทะเล พร้อมทั้งทำลายระบบนิเวศน์ในน้ำ ส่งผลให้ปลา นก เต่า และสัตว์ทะเลทั้งหลายต้องจบชีวิตของตัวเองอย่างช่วยไม่ได้
ด้วยสภาพที่เกิดขึ้นทำให้การทำความสะอาดท้องทะเลเป็นไปได้ยาก โบยัน สลัต จึงได้เริ่มต้นออกแบบทุ่นลอยน้ำที่มีแขนรูปตัววี ด้วยความยาว 100 กิโลเมตรขึ้นมา โดยมีแนวคิดที่จะอาศัยกระแสลมกับน้ำเป็นตัวที่ช่วยพัดพาให้พวกขยะทั้งหลายมาติดที่แขนทั้งสองข้างของทุ่น แต่สัตว์น้ำลอดผ่านไปได้ ทำให้สามารถดักจับขยะได้ถึง 3 เมตรจากระดับผิวน้ำ โดยไม่ต้องออกแรงแต่อย่างใด เพียงวางให้ถูกจุดเท่านั้น จากนั้นสลัตมีโอกาสได้ขึ้นไปนำเสนอไอเดียที่งาน TEDx Talk ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 2012 ถึงทุ่นเก็บขยะที่เขาคิดจะทำว่าสามารถกำจัดขยะที่ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกให้ได้ประมาณ 70 ล้านกิโลกรัม โดยคิดเป็น 42% ซึ่งเมื่อคิดคำนวณแล้วจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 167 บาทต่อกิโลกรัมเพียงเท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ
และจากการพูดในวันนั้น ทำให้ผู้คนให้ความสนใจจนเกิดเป็นกระแสไวรัลทางอินเตอร์เน็ต มีคนมากมายขอร่วมสนับสนุนทั้งด้านการเงินและร่วมเป็นอาสาสมัครกว่าร้อยคนที่จะมาเป็นทีมเดียวกันกับเขาด้วย
หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2013 สลัตตัดสินใจหยุดพักการเรียน เพื่อมาตั้งองค์กรที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า The Ocean Cleanup โดยทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเองเต็มตัว และ 1 ปีต่อมาสลัตและเพื่อนๆนักวิทยาศาสตร์ซึ่งร่วมทีมกันกว่า 100 คน ก็ได้สร้าง “เครื่องกำจัดขยะรุ่นทดสอบ” เครื่องแรกสำเร็จ โดยมีขนาด 40 เมตร พร้อมปล่อยลงสู่ผิวน้ำใกล้เกาะ Azores ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเดือนมีนาคมของปีนั้นเอง พร้อมทั้งร่วมกันเขียนรายงานถึงความเป็นไปได้ที่จะทำความสะอาดทะเลจากขยะพลาสติก โดยไม่สร้างความเสียหายต่อชีวิตในท้องทะเล ซึ่งพวกเขามีเป้าหมายที่ชัดเจนคือต้องการที่จะกำจัดแพขยะที่ลอยอยู่กลางทะเลแปซิฟิคภายในระยะเวลา 10 ปี และหลังจากรายงานชิ้นนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนอย่างมากมายจากนักลงทุนกว่า 38,000 คนจาก 160 ประเทศทั่วโลก โดยมีจำนวนเงินถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลาเพียง 100 วันเท่านั้น
จากจุดนี้เอง ทำให้ทีมของสลัต สามารถดำเนินการติดตั้งเครื่องเก็บขยะตัวที่ 2 ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นถึง 2 กิโลเมตร ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นโครงสร้างลอยน้ำจากฝีมือมนุษย์ที่ยาวที่สุดในโลกในเวลานั้น แต่เป้าหมายของพวกเขาคือต้องการเครื่องที่มีขนาด 100 กิโลเมตร เพื่อที่จะทำความสะอาดท้องทะเลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และในขณะเดียวกัน ก็มีทีมงานบางส่วนที่ได้ล่องเรือไปยัง North Atlantic Gyre เพื่อสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมควบคู่กับการทำโปรเจ็กใหม่แบบคู่ขนานกันไป
“การแก้ที่ดีที่สุดคือการแก้ที่ต้นทาง แก้ที่เรา แก้ที่การเลิกทิ้งตั้งแต่แรก” นี่คือสิ่งที่โบยัน สลัต ผู้ก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanupได้กล่าวเอาไว้ เพื่อสร้างความตระหนักให้กับทุกคนถึงมุมมองในการเป็นผู้พิทักษ์ท้องทะเลด้วยกัน เพราะนี่คือสมบัติที่ธรรมชาติได้มอบไว้ให้กับเราทุกคนเป็นผู้ดูแล
ติดตามข่าวสารและบทความเกี่ยวกับ The Sustain – ธุรกิจและความยั่งยืน พลังงาน ภาวะโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ