เทรนด์ของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานสาธารณภัย ถือเป็นความแม่นยำในระดับสูงที่สามารถช่วยเหลือผู้คนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้มากขึ้นและเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดงานเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครได้อีกด้วย ล่าสุดกรณีไฟไหม้โรงงานพลาสติกย่านกิ่งแก้ว ทำให้เว็บ Longdo Map แผนที่อัจฉริยะฝีมือคนไทย กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
นิธิกร บุญยกุลเจริญ (ปาล์ม) วิศวกรฝ่ายขาย จากบริษัท เมตามีเดีย เทคโนโลยี จำกัด และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบโครงการด้านดิจิทัล และการพัฒนาสู่สังคมดิจิทัลวิถีใหม่ (Digilal New Normal) ในฐานะศิษย์เก่าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานพัฒนาเว็บไซต์ https://mapdemo.longdo.com/fire-soi-king-kaew จากกรณีไฟไหม้โรงงานพลาสติกย่านกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวถึงแนวคิดการทำซอฟต์แวร์ดังกล่าวว่า เป็นการพัฒนาเครื่องมือที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือชี้พิกัดความปลอดภัยของพื้นที่บริเวณโดยรอบ โดยพัฒนาเว็บเฉพาะกิจที่มีโค้ดแค่ 120 บรรทัดและใช้ระยะเวลาพัฒนาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อให้ทันท่วงทีกับสถานการณ์อันคุกรุ่น
“ผมมองว่าเรามีเครื่องมืออยู่แล้ว แค่มาพัฒนาต่อยอด ในครั้งนี้เราเลือกใช้ Longdo Map API แล้วก็เขียนต่อยอดให้เป็นรูปร่างโดยใช้ Map API มาประกอบการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมถนัด โดยจากการที่ผมได้เขียนโปรแกรมนี้มาตลอด พอเราเห็น Pain Point แล้ว ผมจึงเขียน code ขึ้นมา หลังจากนั้นก็ระดมสมองกับในทีมว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้คนได้เข้าถึงและสามารถใช้งานง่าย เพราะเราอยากให้มีประโยชน์เพื่อเตือนภัยกับสถานการณ์ในขณะนั้นเท่าที่เราพอจะช่วยได้”
ทั้งนี้ เว็บไซต์เช็คระยะพิกัดห่างจากจุดเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานซอยกิ่งแก้ว พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้คนเข้าไปตรวจสอบพิกัดของตัวเองในสมาร์ทโฟน หรือระบบบอกพิกัดใน GPS ว่าอยู่ในรัศมี 5 – 10 กิโลเมตร ตามที่หน่วยงานประกาศแจ้งเตือนให้อพยพหรือไม่ มีระยะปลอดภัยเท่าไร โดยอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลภัยพิบัติเข้ามาเป็นข้อมูลประกอบการทำงาน
“หลังจากผมได้เขียนโค้ดเริ่มต้นเสร็จ ก็มีการประชุมทีมเพื่อหาจุดร่วมและหาข้อมูลในการกำหนดระยะรัศมีการอพยพ การหาค่าความปลอดภัยของชุมชน โดยมีการค้นคว้าอ้างอิงข้อมูลจากหลายหน่วยงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงเป้าและแม่นยำมากที่สุด นำไปสู่ประโยชน์ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่และชุมชนในการอพยพเคลื่อนย้าย ท้ายที่สุดทีมงานรู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือในครั้งนี้ และจากเหตุการณ์ครั้งนั้น มีผู้เข้ามาใช้งานเว็บมากถึง 3 ล้านคนในวันเดียว ซึ่งถือว่าเยอะมาก”
ขณะเดียวกันปาล์มยอมรับว่า ประสบการณ์การทำกิจกรรมในรั้ว มจธ.ถือเป็นสิ่งสำคัญที่หล่อหลอมให้เขาไม่นิ่งดูดายต่อสังคมและมีความปรารถนาดีในการช่วยเหลือสังคม โดยนำสิ่งที่เป็นความถนัดและองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้
“ยอมรับว่าเราได้เปรียบตรงที่เราทำงานในเรื่องของแผนที่มาตลอด ผมมองว่าเทคโนโลยี GIS หรือว่าแผนที่สามารถทำอะไรได้อีกเยอะมาก ซึ่งในประเทศไทยเรายังไปต่อหรือใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้ได้อีกหลากหลาย และหากมองในมุมของนวัตกร หากเราจะทำ Startup หรือทำ Innovation อะไรสักอย่าง เราต้องมี Pain Point ก่อน แล้วเรามาตีโจทย์ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ผ่านมา Pain Point คือประชาชนเกิดความสับสนว่าจะต้องอพยพหรือไม่ เนื่องจากไม่รู้ระยะความปลอดภัยของพื้นที่ตัวเอง ห่างแค่ไหนจึงจะปลอดภัย รู้ได้อย่างไร เชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่สำคัญกับพวกเขา ดังนั้นการที่เราหยิบเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาตอบโจทย์จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหล่านั้นได้ทันท่วงที ทันเหตุการณ์ ลดความสูญเสีย นั่นคือกระบวนการคิดในการทำงานในเหตุการณ์ดังกล่าว”
นอกจากนี้ ปาล์มยังกล่าวถึงการส่งต่อแนวคิดในเชิงธุรกิจว่า ทางมหาวิทยาลัยมีการบ่มเพาะแนวคิดแบบ Startup เพื่อผลักดันให้นักศึกษากล้าคิด กล้าแสดงออก รวมถึงการเริ่มต้นทำ Project เล็กๆ ในระหว่างเรียนที่ทำให้ตนได้เรียนรู้และใช้ความสามารถสู่การทำงานในเชิงธุรกิจในชีวิตจริง พร้อมทั้งระบุว่า ชีวิตในรั้ว มจธ.ที่ผ่านมา ทำให้ตนได้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่ไม่ใช่แค่การบ่น แต่ต้องลงมือทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นสู่สังคม“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากรั้วมหาวิทยาลัย ผมตอบได้ทันที และเป็น motto หรือเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจผมเสมอ ก่อนหน้านี้ผมมักจะเป็นคนที่แบบเห็นอะไรที่ไม่โอเคผมก็จะบ่นหรือพูด จนผมได้ยินคำหนึ่งจากอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า เราลองเปลี่ยนจากการที่เราจะเป็นคนที่พูดอย่างเดียวหรือจะบ่นอะไรอย่างนี้ เราลองคิดเพิ่มได้ไหมว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้างกับการแก้ไขปัญหานั้น หรือว่าเราสามารถทำอะไรที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น หรือลองหาแนวทางที่สนับสนุนเพิ่มเติมจากการบ่นหรือการพูดของเราเพียงอย่างเดียว ถ้าหากเราสามารถจะทำได้ ซึ่งเหตุการณ์ไฟไหม้ในซอยกิ่งแก้ว ถือเป็นเหตุการณ์ที่ผมแนวคิดนี้มาใช้เพราะส่วนหนึ่งผมอยากจะทำเพื่อให้สังคมที่เราอยู่ดีขึ้น” ปาล์มกล่าวทิ้งท้ายพร้อมสรุปแง่คิดในการเปลี่ยนแปลงสังคม