Eco Mobility ยกระดับการสัญจรแบบรักโลก
“Eco Mobility” เป็น 1 ใน 7 แกนการพัฒนาภายใต้แผน “ Smart City” หรือ “เมืองอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาดมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการชุมชนเมือง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยเน้นการออกแบบที่ดี และเปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ทันสมัย มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนา 7 แกนเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ได้ ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) , เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy),พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) , การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) ,การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living),การเดินทางขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) และ พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ส่วน Eco Mobility เป็นหนึ่งในการจัดการที่เกี่ยวข้องกับระบบการสัญจรและขนส่ง ระบบนี้มีแนวคิดและเป้าหมายอย่างไร ไปเรียนรู้ด้วยกันค่ะ
แน่นอนว่า ถ้าพูดถึงระบบการขนส่งในแผนการสร้างเมืองอัจฉริยะ จะต้องมีการคาดคะเนความต้องการของเมืองและประชาชนเพื่อก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน และในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบขนส่งด้วย ซึ่งเราเรียกแกนเทคโนโลยีนี้ว่า Smart Mobility “การสัญจรอัจฉริยะ” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ “Eco Mobility” หมายความว่าเป็น “การประหยัดพลังงานด้านการเคลื่อนย้าย” ซึ่งประกอบด้วย
- การขนส่งสาธารณะ (PUBLIC TRANSPORTATION)
ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการบริหารจัดการแนวคิดเรื่องการสัญจร โดยมุ่งเน้นไปที่ความสะอาดของสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบด้วยการขนส่งที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารประจำทาง รถโดยสารสาธารณะ รถไฟรางเบา รถราง รถแท็กซี่ การเดิน และสกู๊ตเตอร์ เป็นต้น โดยมีการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย เพื่อให้ความสะดวกสบายและลดการติดขัดของระบบจราจร ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
- ยานพาหนะไฟฟ้า (ELECTRIC VEHICLES)
หลายประเทศได้มีการบังคับใช้กฎหมายห้ามจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วให้เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทน สำหรับประเทศไทยมีการวางแผนเอาไว้ว่าในปี ค.ศ. 2030 จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน 30% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน
- ยานพาหนะอัตโนมัติ(AUTONOMOUS VEHICLES)
“ยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ” (Connected and Autonomous Vehicle :CAV) หรือที่เรียกสั้นๆว่า“ยานพาหนะอัตโนมัติ” (AUTONOMOUS VEHICLES) กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในเวลานี้ โดยเป็นยานพาหนะที่ติดตั้งระบบอัตโนมัติในการขับขี่และสามารถสื่อสารกับรถยนต์คันอื่นได้ โดยมีการกำหนดระดับขั้นของระบบอัตโนมัติตั้งแต่ในระดับที่มนุษย์ทำหน้าที่ขับขี่ไปจนถึงระบบที่รถยนต์สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระเต็มรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมี เซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์หลากชนิดที่จะกําหนดระยะห่างระหว่างยานพาหนะและสิ่งกีดขวาง ระบบ GPS และระบบแผนที่เพื่อนําทางและติดตามตําแหน่งของยานพาหนะ ระบบ LiDAR ที่ย่อมาจาก Light Detection and Ranging เป็นต้น โดยใช้การสื่อสารไร้สายแบบ 5G ร่วมกับการสื่อสารของยานพาหนะ ซึ่งจะช่วยให้มีความน่าเชื่อถือและทำให้เกิดความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้น
- ความสามารถในการเดิน (WALKABILITY)
เป็นแนวคิดที่ต้องการส่งเสริมการเดินเท้าภายในเมือง โดยจะต้องมีการออกแบบให้เมืองมีองค์ประกอบที่เอื้อและส่งเสริมให้คนได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินเท้าด้วย เช่น ทำทางเท้าให้กว้างขึ้น มีร่มเงา ไม่มีสิ่งกีดขวาง ทำทางรถจักรยานไว้แยกกันต่างหากเพื่อความปลอดภัย ส่งผลดีต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง ทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ทั้งยังช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมอีกด้วย
- การขนส่งความเร็วสูงส่วนบุคคล (PERSONAL RAPID TRANSPORT)
การขนส่งความเร็วสูงส่วนบุคคล (PERSONAL RAPID TRANSPORT) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ารถพ็อดคาร์หรือแท็กซี่นำทาง ซึ่งเป็นยานพาหนะอัตโนมัติขนาดเล็กที่ทำงานบนเครือข่ายของรางนำทางที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ ใช้ในการเดินทางของกลุ่มประมาณ 3-6 คน ซึ่งใช้เส้นทางที่ค่อนข้างตรงไปยังจุดหมายปลายทางโดยไม่มีการแวะจอดหรือแวะพักแบบจุดต่อจุด ผู้โดยสารสามารถขึ้นเครื่องพ็อดได้ทันทีเมื่อถึงสถานี
- ที่จอดรถอัจฉริยะ (SMART PARKING)
ที่จอดรถอัจฉริยะเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ ในการหาพื้นที่จอดรถ มีระบบการแสดงผลและค้นหาพื้นที่จอดรถได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ สามารถบอกได้ว่ามีพื้นที่บริเวณไหนที่ว่าง โดยใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง(Internet of things) ร่วมกับเทคโนโลยีเครือข่ายวิทยุย่านพลังงานต่ำ(NB-loT) และให้ประชาชนใช้งานผ่านแอพพลิเคชัน
- การขนส่งอัจฉริยะ (SMART TRANSPORTATION)
ระบบขนส่งอัจฉริยะ เป็นระบบขนส่งที่ได้ผนวกเทคโนโลยีแต่ละองค์ประกอบมาใช้งานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ ผู้เดิน ทาง และระบบกายภาพของการขนส่งและถนน เพื่อก่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการเชื่อมต่องานด้านการประมวลข้อมูลข่าวสาร งานสื่อสารโทรคมนาคม และงานด้านอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัว ปลอดภัย และทำให้การโดยสารเกิดความสะดวกสบายมากขึ้น ที่สำคัญคือช่วยประหยัดพลังงาน ลดมลพิษและมีการบูรณาการระบบขนส่งต่างๆให้สามารถใช้งานร่วมกันได้
- การแบ่งปันความคล่องตัว (SHARED MOBILITY)
เมื่อมีการจัดระบบการสัญจรได้อย่างชาญฉลาด ก็จะทำให้ระบบการเดินทางและการขนส่งมีความคล่องตัว ไม่แออัด มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
- สนับสนุนความสามารถทางชีวภาพ (SUPPORT BIODIVERSITY)
Eco-Mobility เป็นส่วนหนึ่งของแผน “เมืองอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนที่จะช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการขนส่งที่มีความหลากหลาย มีเทคโนโลยีที่ช่วยในการวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เวลาน้อยลง และสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย ไม่เพียงสภาพแวดล้อมและความคล่องตัวในการเดินทางจะดีขึ้นเท่านั้น แต่เชื่อแน่ว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุบัติเหตุน้อยลงได้ด้วย
ติดตามข่าวสารและบทความเกี่ยวกับ The Sustain – ธุรกิจและความยั่งยืน พลังงาน ภาวะโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ