พลังงานทดแทนใช้เป็นพลังงานอนาคตได้จริงหรือ?
เพราะปัญหาพลังงานหมดไปเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานมีเพิ่มมากขึ้น ตามจำนวนประชากรที่มากขึ้นเช่นกัน นั่นหมายความว่าพลังงานสามารถหมดไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้นทางออกของปัญหานี้จึงถูกแก้ด้วย “พลังงานทดแทน” ที่จะนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าและยังช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
พลังงานทดแทน เป็นอย่างไร
พลังงานทดแทนคือ พลังงานที่มีอยู่ในธรรมชาติที่กำลังจะถูกนำมาใช้ทดแทนพลังงานแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากพลังงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกำลังจะหมดไปในอนาคตอันใกล้นี้ หรือเพราะมีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากจนเกินไป และนำมาซึ่งปัญหาภาวะโลกร้อน
พลังงานที่ใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพลังงานที่ได้จากฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นปริมาณมากและมีมลพิษค่อนข้างสูง และพลังงานแบบเดิมคือ น้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้นพลังงานทดแทนจึงหมายถึง พลังงานที่มาทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงนั่นเอง แบ่งได้เป็น
- พลังงานทางเลือก (alternative energy) คือ พลังงานทดแทนจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และหินน้ำมัน
- พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) คือ พลังงานทดแทนจากแหล่งที่ใช้แล้วไม่หมดไป เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง เป็นต้น
ทั้งพลังงานทดแทนที่ถูกนำมากล่าวถึงมากคือ พลังงานทดแทนประเภทที่สอง นั่นคือ พลังงานหมุนเวียนเพราะพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือสามารถที่จะสร้างขึ้นมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่สั้น เมื่อเทียบกับพลังงานอื่น ๆ
พลังงานทดแทนที่นิยมนำมาทำเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้า ได้แก่
- พลังงานแสงอาทิตย์
โรงไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เป็นหนึ่งแหล่ง พลังงานที่มีความสำคัญที่จะมาสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน เนื่องจากพื้นที่ของประเทศไทยเอื้ออำนวยต่อการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ แต่ก็มีข้อจำกัด เนื่องจากแสงอาทิตย์ไม่มีความแน่นอน ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ดังนั้นไฟฟ้าที่ได้จึงแปรผันตามสภาพอากาศ ไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่สามารถเก็บไว้ได้
- พลังงานชีวมวล
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สามารถเพาะปลูกได้ทุกฤดูกาล มีพืชหลากหลายชนิดซึ่ง ส่งผลให้มีแหล่งของชีวมวลหลากหลาย เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย และปาล์ม โดยชีวมวลคือ สารอินทรีย์ทุกรูปแบบที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติ และสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้
- พลังงานลม
พลังงานลมยังคงเป็นพลังงานทดแทนที่สำคัญ ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมถือเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานที่สะอาด และเป็นพลังงานที่มีความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและที่ใช้แล้วไม่หมดไป โดย หลักการทำงานของกังหันลมผลิตไฟฟ้า เมื่อมีลมพัดผ่านใบกังหัน ทำให้ใบพัดของกังหันเกิดการหมุน ซึ่งใบพัดเชื่อมต่อกับแกนหมุน และจะถูกเปลี่ยนรูปไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งพลังงานลมนี้หากตั้งโรงไฟฟ้า ก็ยังมีข้อจำกัดอย่างความไม่สม่ำเสมอของความเร็วลมที่แปรผันตามธรรมชาติ
พลังงานทดแทนช่วยโลกได้อย่างไร
อย่างที่บอกไปว่า พลังงานทดแทนเป็นพลังงานสะอาด และเกิดมลภาวะที่เป็นพิษอย่างน้อยที่สุดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต แปรรูป การนำไปใช้งาน จนถึงการจัดการของเสีย ซึ่งพลังงานดังกล่าวนั้นมีโอกาสที่จะเปลี่ยนสถานะจากพลังงานสำรองเป็นพลังงานหลักได้ในอนาคตที่ไม่ไกลเกินไปนัก เนื่องจากต้นทุนผลิตพลังงานจากพลังงานสะอาดถูกลงอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี นำมาซึ่งประสิทธิภาพที่สูงขึ้น จึงมีความสามารถในการผลิตพลังงานทดแทนแหล่งพลังงานดั้งเดิม อีกทั้งสังคมมีทัศนคติและพฤติกรรมที่มีแนวโน้มรักษ์โลก กังวลถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและมีการแสดงออกที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งภาครัฐฯ ได้มีการสนับสนุนพลังงานสะอาดมากกว่าพลังงานรูปแบบเดิม ๆ ด้วยปัจจัยเหล่านี้เอง จึงทำให้พื้นฐานของพลังงานสะอาดได้เปลี่ยนแปลงไป
สรุปได้ว่า พลังงานทดแทนสามารถใช้เป็นพลังงานอนาคตได้ อีกทั้งอาจจะยังสามารถพัฒนาไปให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ติดตามข่าวสารและบทความเกี่ยวกับ The Sustain – ธุรกิจและความยั่งยืน พลังงาน ภาวะโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ