ฤดูหนาวที่ร้อนที่สุด อาจฟังดูแปลกสักเล็กน้อย แต่เกิดขึ้นจริงแล้ว เมื่อผู้เชี่ยวชาญออกมาแจ้งว่า ฤดูหนาวปีนี้เป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุดกว่าครั้งก่อน ๆ ที่เคยผ่านมา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์เช่นนี้คือ ผลกระทบภัยแล้งจาก ‘เอลนีโญ’ ที่ทั่วโลกเผชิญอยู่
เพิ่งจะเข้าฤดูหนาวกันอย่างเป็นจริงเป็นจริงได้แค่ 1 อาทิตย์เท่านั้น หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนอากาศเย็นสบายที่มาพร้อมกับฤดูหนาวจะอยู่กับเราแค่ไม่นาน
ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ระบุว่า ตัวการสำคัญที่ทำให้ฤดูหนาวปีนี้ไม่น่าอภิรมย์เหมือนเคยคือ ภัยแล้งจาก ‘เอลนีโญ’ ที่ทั่วทุกตารางนิ้วของโลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนคือเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่มีการบันทึกว่ากลายเป็นเดือนที่โลกทำลายสถิติร้อนที่เป็นประวัติการณ์
กล่าวคือ ปีนี้เราอาจจะหนาวแค่พอเป็นพิธี หนาวแค่ให้พอรู้ว่าเราผ่านเข้าสู่หน้าหนาวกันแล้ว เพราะปีนี้จะเป็นซึ่งมี ‘ฤดูหนาวที่ร้อนที่สุด’ ที่เราประสบกันมา
หลายท่านอาจเกิดคำถามว่า ‘ฤดูหนาวที่ร้อนที่สุด’ มันคืออะไร Keep The World อาสาพาส่องความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และสถานการณ์ฤดูหนาวของอีกฟากโลกบ้างว่าเป็นอย่างไร
สำนักข่าวอนาโดลู ซึ่งเป็นสื่อของทางการตุรกี รายงานอ้างผู้เชี่ยวชาญว่า ฤดูหนาวนี้ อาจจะเป็นฤดูหนาวที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก หลังปรากฏการณ์เอลนีโญกลับมา และโลกของเราเผชิญกับสภาพอากาศที่สุดโต่ง หน้าร้อนที่ร้อนจัด โดยทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลมาจากปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
“ดูเหมือนว่าทั่วโลกกำลังจะเจอกับเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์” แมทธิว บาร์โลว์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์โลเวลล์ในสหรัฐฯ กล่าว
ต้นเหตุที่ทำให้เราต้องเจอกับฤดูหนาวที่ไม่หนาว ก็คือปัญหาโลกร้อน และปรากฏการณ์เอลนีโญนั่นเอง โดยศาสตราจารย์บาร์โลว์ระบุว่า ในปีที่อากาศของโลกใบนี้ร้อนจนทำลายสถิติใหม่ ก็มักจะเป็นที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญขึ้นทั้งนั้น และคาดการณ์ว่า อุณหภูมิโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกที่เลยบนโลกใบนี้
ก่อนหน้านี้เราเผชิญกับเดือนตุลาคมที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์มาแล้ว โดยหน่วยงานการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโคเปอร์นิคัส ของสหภาพยุโรปรายงานว่า เดือนตุลาคมปี 2023 คือเดือนตุลาคมที่ทั่วโลกร้อนที่สุดในรอบหลายสิบปี ย้อนไปถึงปี 1940
ศาสตราจารย์บาร์โลว์ยังระบุคาดการณ์อีกว่า เราน่าจะได้เห็นฤดูหนาวที่สั้นลง และน่าจะเป็นเช่นนั้นเกือบทุกภูมิภาค และเอลนีโญจะส่งผลทำให้ในช่วงฤดูหนาว เอเชียตะวันตกเฉียงใต้จะเผชิญกับฝนมากขึ้นกว่าเฉลี่ย ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเผชิญกับความแห้งแล้งที่ผิดปกติในช่วงนี้
เอลนีโญ ฤดูหนาวในยุโรปเป็นอย่างไร?
สำนักข่าวยูโรนิวส์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2024 และน่าจะไปสิ้นสุดในราวฤดูใบไม้ผลิปีหน้า อย่างไรก็ตาม ยากที่จะคาดเดาว่าเอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในยุโรปเช่นไร
ศาสตราจารย์อดัม สเคฟ หัวหน้าฝ่ายพยากรณ์อากาศล่วงหน้าในระยะยาว แห่งสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า ปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ มักจะทำให้ปริมาณฝนไม่มากนักเมื่อตอนเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว คือในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม
นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับความหนาวเย็นกว่าปกติ แห้งกว่าปกติ เมื่อมาถึงช่วงสิ้นสุดฤดูหนาว คือระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม ในพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของยุโรป
ขณะที่ทางตอนใต้ของยุโรป โดยภาพรวมจะเผชิญกับฤดูหนาวที่มีฝนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ศาสตาราจารย์สเคฟย้ำว่า นี่เป็นเพียงค่าเฉลี่ยของปีที่เกิดเอลนีโญขึ้นเท่านั้น เพราะก็ยังไม่สามารถบอกผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้แน่ชัด เพราะบางปี ก็อาจจะมีรูปแบบของสภาพอากาศที่แตกต่างออกไป
เอลนีโญ ฤดูหนาวในสหรัฐเป็นอย่างไร?
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือโนอา เปิดเผยข้อมูลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้เกิดฤดูหนาวที่ร้อนกว่าปกติหรือมีฝนตกผิดปกติ ในหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ
มีการคาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นรุนแรงมากในฤดูหนาวนี้ และอาจจะแตะระดับที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ปี 2015-2016 ซึ่งครั้งนั้น ปรากฏการณ์เอลนีโญเคยทำให้เกิดฤดูหนาวที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์มาแล้วในสหรัฐฯ
ปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้เกิดอากาศที่มีฝนตกมากขึ้น และหนาวเย็นผิดปกติในทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ในขณะที่ทางตอนเหนือจะเผชิญกับความแห้งแล้งมากขึ้นและฤดูหนาวที่ร้อนกว่าเดิม โดยโนอาคาดการณ์ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในฤดูหนาวปีนี้ก็คือ อุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยในหลายพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักพยากรณ์อากาศจะคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่หนาวเลย เพียงแต่ว่ามันอาจจะหนาวน้อยกว่าเดิม หรือระยะเวลาของความหนาวเย็นจะสั้นลง
ทั้งนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ประกาศว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญกลับมาแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และจะอยู่ยาวไปจนถึงอย่างน้อยเดือนเมษายนปีหน้า และด้วยปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้ปี 2023 กลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ขณะเดียวกัน ปี 2024 ที่กำลังจะมาถึง ก็อาจจะเป็นปีที่ร้อนยิ่งกว่าปี 2023 เสียอีก
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก springnews