ข้อมูลจากกรมประมงล่าสุด ระบุว่า ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ (Sorotheodon Melanotheron) เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Alien Species) กระจายไปใน 13 จังหวัดชายฝั่งแถบอ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เพราะพวกมันกินลูกปลา ลูกกุ้ง และลูกหอยเป็นอาหาร ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่มีบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ เนื่องจากปลาหมอชนิดนี้มันร้ายกาจสามารถอยู่ได้ทั้งสภาพน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย รวมทั้งแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ออกลูกได้คราวละ 500 กว่าตัว
ปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาไม่สามารถว่ายน้ำข้ามทะเลมาได้ ต้องมีมีบริษัทนำเข้ามา ไม่ใช่อยู่ๆ ปลาหมอคางดำก็โผล่ขึ้นเหนือน้ำมาให้ชาวบ้านเห็นเป็นครั้งแรกที่ จ.สมุทรสงคราม เมื่อราวปี 2555 และจากนั้นพบการระบาดมากขึ้นในปี 2559
จากการสำรวจการแพร่กระจาย ปลาหมอคางดำ ในปี 2560 โดยกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด
พบว่าใน จ.สมุทรสงคราม และเพชรบุรี มีปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่เลี้ยงกุ้งของทั้งสองจังหวัดรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,573 ตัน หรือราว 30 ล้านตัว ประมาณการมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 150-350 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ในปี 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ปลาชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นที่มีความสำคัญสูงที่จะต้องมีการควบคุม และกำจัด
ต่อมาสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงครามจึงได้ดำเนินโครงการการรับซื้อปลาหมอสีคางดำ ตามโครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติในระยะเร่งด่วน (ตั้งแต่ 24 ก.ค. 2561 สิ้นสุดการรับซื้อ 31 ส.ค. 2561) นอกจากนั้นในรายงานเรื่อง “การแพร่กระจายและขอบเขตการรุกรานของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่ใกล้เคียง”
โดยนักวิจัยกรมประมงซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2566 ระบุว่า การเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ 2 ช่วง คือ เดือน พ.ย. ปี 2562 และ เดือน มี.ค. 2564 บริเวณพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก พื้นที่อ่าวไทยตอนบน และพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง รวมถึงได้ศึกษาความชุกชุมการแพร่ระบาดใน 3 ลำน้ำ ได้แก่ ลำน้ำประแสร์, ลำน้ำเพชรบุรีและสมุทรสงคราม, และลำน้ำสวี ผลการศึกษาพบว่า การระบาดของปลาหมอคางดำมีความน่ากังวล เนื่องจากการแพร่กระจายอยู่ในระดับรุกราน
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก igreenstory