สโมสรฟุตบอล รักษ์โลก

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโลกที่อาจจะเรียกได้ว่าแย่ลง แต่ยังมีสโมสรหนึ่งที่พยายามไม่ให้โลกของเราต้องบอบช้ำไปกว่านี้ ในเมืองอันเงียบสงบที่ชื่อว่า เนลสเวิร์ธ ของอังกฤษ มีสโมสรเล็กๆ ที่สนามมีความจุเพียงแค่ 2,000 คน แต่สามารถสร้างชื่อในระดับโลกแฝงตัวอยู่

พวกเขากลับได้รับการเชิดชูจากองค์กรระดับโลกอย่างสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ในฐานะสโมสรที่รักษ์โลกที่สุด และล่าสุดเพิ่งจะได้รับรองจากสหประชาชาติว่าเป็นสโมสรแห่งแรกของโลกที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์

Forest Green Rovers ฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส เอฟซี คือชื่อของพวกเขา มารู้จักสโมสรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลกให้มากขึ้นกันดีกว่า

พลังงานจากธรรมชาติ

ย้อนกลับไปในปี 2010 หลัง เดล วินซ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Ecotricity บริษัทพลังงานสะอาด เข้ามานั่งเป็นประธานสโมสร ไม่เพียงแต่การเข้ามาอัดฉีดงบประมาณเท่านั้น แต่เขายังพยายามทำให้สโมสรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

“ปัจจุบันพลังงาน 30 เปอร์เซ็นต์ของสหราชอาณาจักรมาจากพลังงานหมุนเวียน มันกำลังเพิ่มขึ้น รถยนต์ไฟฟ้าก็มีการนำมาใช้บนท้องถนนมากขึ้น” วินซ์กล่าวกับ CNBC

“วีแกน (Vegan) กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมจริงๆ และสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ ก็มีองค์ประกอบเหล่านั้นทุกอย่าง มันเป็นสื่อกลางที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับการส่งสาส์นออกไป”

วินซ์ จัดการติดตั้งแผงรับพลังแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ลงบนหลังคาของอัฒจันทร์ฝั่งใต้ของสนามในปี 2011 ทำให้พวกเขาสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เองถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือก็พยายามหลีกเลี่ยงพลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยเลือกใช้พลังงานลมแทน

นอกจากนี้ บริเวณสนามของ ฟอเรสต์ กรีน ยังติดตั้งสถานีจ่ายไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้แฟนบอลใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติให้มากที่สุด     

“เราทำมันให้เป็นสโมสรฟุตบอลที่เขียวที่สุดบนโลกใบนี้อย่างง่ายๆ เราใส่สิ่งแวดล้อมเข้าไปในดีเอ็นเอของสโมสรฟุตบอล” วินซ์ กล่าวกับ CNN

“เราคิดว่าถ้าเรากำลังทำแบบนั้น เราจะทำอย่างที่เราต้องการได้ เรานำผลงานและประสบการณ์ของเราทั้งหมดใส่เข้าไปในจุดที่ทำให้มันยั่งยืน และด้วยวิธีนั้นเราจะเข้าถึงผู้คนใหม่ๆโดยสมบูรณ์”

สนามฟุตบอลแบบ ออร์แกนิค

นอกจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของอัฒจันทร์ เดอะ นิว ลอท์ สนามเหย้าของ ฟอเรสต์ กรีนแล้ว พวกเขายังยืนหยัดนโยบายรักโลกด้วยการทำให้สนามมีความ “ออร์แกนิค” ปราศจากสารเคมีมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และใช้น้ำฝนสำหรับหญ้าในสนาม รวมไปถึงการแบนยาปราบศัตรูพืช จึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นประจำที่สโมสรแห่งนี้

“เรามีพื้นสนามออร์แกนิค และใช้สาหร่ายสก็อตเป็นปุ๋ยเท่านั้น” วินซ์อธิบายกับ CNN

“เราไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืช เพราะเรามีพรมแดนเป็นธรรมชาติรอบๆสโมสร”

และสำหรับการตัดหญ้าในพื้นสนาม ฟอเรสต์ กรีน มีหุ่นยนต์ตัดหญ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ชื่อว่า “โมบ็อต” เป็นผู้ช่วยในการดูแลรังเหย้าของพวกเขา

“ทุกอย่างเป็นไฟฟ้าหมดเลย และใช้ระบบ GPS แมพ ที่สามารถติดตามได้ว่ามันไปตรงไหนบ้าง พลังงานทุกอย่างที่ใช้มาจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) บนหลังคาของอัฒจันทร์ฝั่งใต้ ผมคิดว่ามันใช้พลังงานเพียงแค่ 1.4 เปอร์เซ็นต์จากโซลาร์เซลล์ ซึ่งน่าจะเป็นค่าไฟฟ้าแค่เพียง 50 ปอนด์ (ราว 2,150 บาท) ต่อปี” อดัม วิชเชล์ ผู้ดูแลสนามกล่าว

“มันถูก และมันก็ง่าย และช่วยประหยัดเวลาการทำงานของผมราว 6-8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์”

นอกจากนี้ ฟอเรสต์กรีน ยังมีเมกะโปรเจคต์ใหญ่ นั่นคือการสร้างสนามฟุตบอลที่ทำจากไม้แห่งแรกของโลก ซึ่งนี่ถือเป็นผลงานออกแบบชิ้นท้ายๆ ของ ซาฮา ฮาดิด สถาปนิกชื่อก้องโลก ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตเมื่อเดือนมีนาคม 2016

สนามดังกล่าวจะตั้งอยู่ในพื้นที่กว่า 100 เอเคอร์ในสวนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะมีสาธารณูปโภคครบครัน เพื่อชุมชนและสโมสรที่ประกอบไปด้วยยิม, สนามซ้อม และคลินิกวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยมีมูลค่าราว 100 ล้านปอนด์ ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2019 ที่ผ่านมาแผนงานการก่อสร้างสนามแห่งนี้ ได้ผ่านการเห็นชอบของสภาเมืองแล้ว   

Forest Green Rovers

“สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการใช้ไม้ ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นวัสดุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเท่านั้น แต่มันยังมีคาร์บอนที่ต่ำมาก และน่าจะต่ำที่สุดในวัสดุก่อสร้าง” วินซ์กล่าวกับ BBC

“และหากคุณรู้ว่าผลกระทบที่เกิดจากคาร์บอนจากสนามใดก็ตาม มาจากวัสดุในการสร้างถึง 3 ใน 4 คุณจะรู้ว่าทำไมมันจึงสำคัญ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมสนามใหม่ของเราจึงปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุดกว่าสนามอื่นๆ”

Forest Green Rovers เสิร์ฟมังสวิรัติ

พายเนื้อสัตว์ หรือ แฮมเบอร์เกอร์เนื้อสัตว์ อาจจะเป็นสิ่งที่พบเห็นเป็นประจำในสนามฟุตบอล แต่ไม่ใช่สำหรับรังเหย้าของ ฟอเรสต์ กรีน

ที่นี่คุณสามารถเลือกซื้อได้แต่อาหารมังสวิรัติที่เป็นมิตรต่อสุขภาพร่างกายเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเบอร์เกอร์ หรือพาย ต่างทำมาจากจากวัตถุดิบที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ โดยพวกเขายังได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสังคมวีแกนอีกด้วย

“อาหารเป็นประเด็นที่สำคัญมากสำหรับเรา เป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน เป็นขอบเขตที่เรากำลังสำรวจอยู่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา” วินซ์ให้สัมภาษณ์กับ BBC เมื่อปี 2015

“เราเริ่มนำเนื้อสัตว์ออกจากเมนู และก้าวไปสู่การเป็นมังสวิรัติ ตอนนี้เราร่วมมือกับ (เชฟท้องถิ่น) นิค (อัลลัน) จาก Anise Cafe เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญสำหรับเรา”

“ทางเลือกสำหรับมังสวิรัติ กำลังเป็นที่นิยม ดังนั้นการเปลี่ยนเป็นเมนูมังสวิรัติอย่างเต็มตัว จึงไม่ได้ดรามาเหมือนเมื่อก่อน”Forest Green Rovers

นอกจากแฟนบอลแล้ว นักเตะและสต๊าฟฟ์ของทีมก็จะได้รับการเสิร์ฟอาหารเป็นมังสวิรัติด้วยเช่นกัน โดย คริสเตียน ดอดจ์ หัวหอกตัวเก่งของทีมที่ปัจจุบันถูก โบลตัน วันเดอเรอร์ส ยืมตัวไปใช้งาน เผยว่าเขารู้สึกเห็นถึงประโยชน์สำหรับชีวิตการค้าแข้งของเขา  

“ผมชินกับมัน (อาหารมังสวิรัติ) แล้วตอนนี้ ผมเคยอยู่ที่นั่นเมื่อสองปีก่อน และเป็นสองปีที่ดีที่สุดในอาชีพของผม ทั้งในและนอกสนาม ผมรู้สึกดีจริงๆ ผมคิดว่าหลายๆสิ่งที่ทำกับสโมสรและแนวทางที่พวกเขาทำ มันทำให้ผมรู้สึกสบาย และทำให้ผมฟิตและสุขภาพดีจริงๆ”

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก fgr

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย ออกแบบเก้าอี้รักษ์โลก ดีไซน์ที่คนไทยคุ้นเคย

Previous article

รู้ทัน ‘Greenwashing’ การตลาดฟอกเขียวที่ไม่สนโลก?

Next article

You may also like

More in Bitesize