มหกรรมพืชสวนโลกที่เกิดขึ้นทุก 10 ปี สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามประเทศสมาชิก สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ครั้งแรกมีขึ้นในปี พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) ที่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งวนมาอีกครั้งในปีนี้ โดยเนเธอร์แลนด์ได้เนรมิต พื้นในเมืองอัลเมียร์ จังหวัดเฟลโวลันด์ กว่า 375 ไร่
เมืองอัลเมียร์ เป็นพื้นที่ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการถมทะเล มีอายุไม่เกิน 40 ปี จัดงานครั้งนี้ ภายใต้ชื่อ
EXPO 2022 Floriade Almere ขึ้นเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย.- 9 ต.ค. 2565 นี้ โดยมีสมาชิก เข้าร่วมงานกว่า 30 ประเทศ
มหกรรมพืชสวนโลกหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา จะเห็นภาพไม้ดอกไม้ประดับที่แปลกตา และสวยงาม แต่ งานมหกรรมพืชสวนโลก EXPO 2022 Floriade Almere จะเห็นรูปแบบที่เปลี่ยนไป โดยการแสดงของแต่ละประเทศจะเน้นให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับเมืองอนาคต มากขึ้น
เริ่มตั้งแต่อาคารจัดแสดง หรือ Pavilion มีบางประเทศเท่านั้นที่โครงสร้างเป็นศิลปวัฒนธรรม เช่น ไทย ญี่ปุ่น ที่เหลือ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงสร้างอาคารสมัยใหม่ ที่เน้นการใช้ประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่ การประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องของวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ที่ต้องการเผยแพร่ความก้าวหน้าในเรื่องนวัตกรรมด้านอาหารและสินค้าเกษตรของไทย การพัฒนากระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและคุณภาพของไทยอย่างยั่งยืน จึงกำหนดแนวคิดของการจัดงานครั้งนี้ คือ Growing Green Cities หรือการเติบโตของเมืองสีเขียว นั่นเอง
ในส่วนของเนเธอร์แลนด์ที่เป็นประเทศเกษตรกรรม มีความก้าวหน้าด้านเกษตรสมัยใหม่ และการบริหารจัดการน้ำที่ดี การจัดแสดงนิทรรศการ จึงจะเห็นการเพาะปลูกภายในโรงเรือนกรีนเฮาส์ ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ น้ำ และโรคแมลงได้ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยความภาคภูมิใจของเนเธอร์แลนด์ที่นำมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้คือความสำเร็จของการปลูกไม้ดอกไม้ประดับเมืองร้อน และการควบคุมการปลูกสตอเบอรี่ในช่วงฤดูร้อนได้
สำหรับบริเวณภายนอกอาคาร เนเธอร์แลนด์ ได้แสดงถึงวัชพืชท้องถิ่นที่มีประโยชน์ต่อการคลุมดิน มีส่วนช่วยในการ ฟอกอากาศ เนเธอร์แลนด์จึงปล่อยให้หญ้าพื้นเมืองเหล่านี้เติบโตตามธรรมชาติ แต่ควบคุมไม่ให้รกมากจนเกินไป จึงจะเห็นง่ายได้ตามข้างทางทั่วไป นอกเหนือจากการวางผังงานที่มีกระเช้าลอยฟ้าที่ให้บริการกับผู้เข้าชมตั้งแต่ช่วงเวลา 10.00น-18.00น. ของทุกวัน ทำให้เห็น Pavilion ของแต่ละประเทศ ในมุม 360 องศา
สลับกับการเปิดให้ประเทศสมาชิกจัดกิจกรรมพิเศษขึ้นแต่ละสัปดาห์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศิลปะและวัฒนธรรม ของแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่ามีผู้เข้าชมงานมากกว่า 2 ล้านคนจากทั่วโลก
“นับเป็นมิติใหม่ของการนิทรรศการพืชสวนโลก ที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่นานาประเทศให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศยืนหนึ่งที่คำนึงถึงสภาวะแวดล้อมอยู่แล้วจึงเป็นโอกาสเต็มที่ ที่จะแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ ทำให้มีผลผลิตสูง ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำหรับไทยในด้านของการบริหารจัดการที่ดี” นายชาตรี อรรจนานันท์ เอกอัครราชทูตประจำเนเธอร์แลนด์ กล่าว
สำหรับเยอรมันนี การสร้าง Pavilion จะโครงสร้างที่ทันสมัย ใช้ไม้เป็นม่านบังแดด เพื่อประโยชน์ด้านการประหยัดพลังงาน ตกแต่งด้วยสวนไม้ประดับ และดอกไม้ตามฤดูกาล เน้นการจัดแสดงนิทรรศการเคลื่อนไหว ผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรม พร้อมของที่ระลึก มีการแสดงดนตรี ขายอาหาร และเบียร์ทีขึ้นชื่อ เรียกได้ว่าเป็น Pavilion ที่มีความครื้นเครงได้ตลอดทั้งวัน
อินเดีย Pavilion เน้นการตกแต่งอาคารสถานที่ด้วยโทนสีเขียวเข้ม อาจดูเงียบเหงาบ้างเนื่องจาก สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศที่ยังไม่สร่างซา ทำให้การจัดแสดงจึงให้ความรู้สึกไปทางความหนักแน่นและมั่นคง มีทางเดินกว้างๆ เพื่อนำเข้าสู่ซุ้มประตูที่เป็นหลักศิลาขนาดใหญ่จำนวน 3 บาน ประดับด้วยไม้ดอก ไม้ประดับตลอดทางเพื่อนำไปสู่อาคารขนาดไม่ใหญ่มากแต่ได้กลิ่นอายของประเทศอินเดีย อย่างชัดเจน
ขณะที่ใกล้กันนั้นเป็น Pavilion ของซูดาน เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่าย มีวิถีชีวิตแบบไม่ซับซ้อน แต่ดึงดูดสายตาของผู้เข้าชมไม่น้อยเลยทีเดียว
สำหรับ Pavilion ของญี่ปุ่น นอกจากโครงสร้างของอาคารจะแสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรม บ้านหลุม ในสวนซาโตยามะ ( Satoyama Farm Garden)ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบดั่งเดิมของคนญี่ปุ่น ที่ยังทำการเกษตร มีบ่อน้ำชลประทาน ป่าไม้ และทุ่งหญ้า หรือเรียกง่ายๆ คือคนอยู่กับป่านั่นเอง โดยภายในอาคารได้นำเสนอรูปแบบการจัดแจกันดอกไม้ เรียกได้ว่าเรียบแต่หรู ให้ความรู้สึกเงียบสงบ มองได้ทั้งวันไม่รู้เบื่อ
ขณะของจีน ถือว่าเป็น Pavilion ที่ใหญ่ที่สุด 4.2 พันตารางเมตร ให้ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ อลังการ ด้วยประตูไม้ไผ่และสวนป่าไผ่ แสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดดเด่นที่สุดที่ Pavilion ไทย เป็นศาลากลางน้ำ มีสะพานทางเชื่อม เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนไทยดั่งเดิม รายล้อมไปด้วยสวนไม้ดอก ตามฤดูกาล เช่นดอกกระเจียว กล้วยไม้ ดาวเรือง และซุ้มอาหาร ที่นำไปจัดแสดง เช่นส้มตำ ข้าวเหนียวเนื้อฝอย แกงเขียวหวานไก่ ผัดไทย แกงเห็ดแคลง น้ำลำไย อัญชันมะนาว ขับกล่อมด้วยคนตรีไทยตลอดช่วงสัปดาห์ประเทศไทย วันที่ 28 ก.ค. – 3 ส.ค. 65 นอกจากนี้ภายในศาลายังมีการแสดงผ้าไหม นวดไทย
ซึ่งจากการประเมินภายในของการจัดงานครั้งนี้ คณะกรรมการต่างระบุว่าศาลาไทยมีความโดเด่นเป็นอันดับที่ 3 และมีผู้เข้าร่วมชมงานมากที่สุดเป็นอันดับ 1
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก bangkokbiznews