น้ำท่วม ยังไม่หยุด เพราะยังมีพายุดีเปรสชั่นแรงทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะภาคอีสานตอยบน ส่งผลมาถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วง 20-23 ก.ย.นี้
ช่วงวันที่ 19-21 ก.ย. 2567 กรมอุตุฯ พยากรณ์ว่า ร่องมรสุมเลื่อนต่ำลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคอีสาน เข้าสู่พายุดีเปรสชันที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ซึ่งพายุนี้คาดว่าจะแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อนได้ เนื่องจากยังอยู่ในทะเล และจะเคลื่อนตัวทางตะวันตก เข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง
เตือนภัย น้ำท่วม ต่อเนื่อง เฝ้าระวังปลายเดือนกันยายนนี้
ในช่วงวันที่ 19-20 ก.ย. อาจจะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนขึ้นฝั่ง ประกอบกับมรสุมมีกำลังแรง ทำให้ภาคอีสานได้รับผลกระทบ โดยเริ่มทางด้านตะวันออกก่อนในวันที่ 19 ก.ย. ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป โดยทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากเกิดขึ้นได้ ยังต้องติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณภาคอีสานที่ยังมีฝนตกหนักและต่อเนื่องทางตอนบนของภาค (นครพนม มุกดาหาร สกลนคร หนองคาย บึงกาฬ เลย อุดรฯ หนองบัวลำภู) และด้านรับมรสุมโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามันต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ส่วนช่วงวันที่ 22 – 26 ก.ย. ร่องมรสุมได้สวิงเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนบน ภาคกลาง ฝนยังเกิดขึ้นได้ใกล้ร่องมรสุม ยังต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกสะสม
สำหรับภาคกลางและกรุงเทพมหานคร กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงพัดเข้าหาพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้ภาคกลางตอนล่าง กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีปริมาณฝนตกเพิ่ม ในช่วงวันที่ 20–23 ก.ย. จึงยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ด้านกรมชลประทานได้รายงานสถานการ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ณ วันที่ 19 ก.ย. ดังนี้
• สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,095 ลบ.ม./วินาที โดยมีแนวโน้มลดลง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5 เมตร
• สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,049 ลบ.ม/วินาที แนวโน้มลดลง ระดับน้ำท้ายเขื่อนต่ำกว่าตลิ่ง 5 เมตร
• สถานี C 29A บางไทร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุทธยา ระบายน้ำ 1,286 ลบ.ม.ต่อวินาที
กรมชลประทานย้ำเตือน ฝนตกหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ระหว่างวันที่ 20–23 ก.ย. 2567
โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดว่าจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบน และจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีกระลอก แต่จะปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแบบขั้นบันได ในอัตราไม่เกิน 1,500 ลบ.ม./วินาที
ในขณะที่การฟื้นฟูหลังน้ำลดในพื้นที่ จ.เชียงราย ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง การฟื้นฟูภายหลังจาก น้ำท่วม ..นานาชาติเขาทำกันอย่างไร? มีเนื้อหาดังนี้
1.ขอให้ประชาชนคอยคำสั่งจากราชการ (Wait for the All Clear) อย่าเพิ่งเข้าไปในบ้านที่น้ำท่วมเริ่มลดลงเพราะอาจจะประสบอันตรายจากบ้านพังถล่มลงมาหรือ อาจจะประสบภัยอันตรายจากระบบไฟฟ้า หากใครมีประกันภัยให้ติดต่อประกันภัยไว้ก่อน
2. หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ประกาศเป็นพื้นที่บรรเทาสาธารณภัยแล้วจะใช้งบประมาณของทางราชการเข้าไปทำความสะอาด หรือ clean up บ้านเรือนของประชา ชนในเบื้องต้นให้ก่อน เช่น ตักหรือดูดเอาดินโคลนที่ถูกพัดเข้าออกให้หมดก่อนและใช้น้ำแรงดันสูงฉีดเพื่อล้างทำความสะอาด จะต้องจัดการภายในไม่เกิน 7 วันหลังจากที่น้ำลดลง มิฉะนั้นดินโคลนจะแข็งตัวแล้ว กลายเป็นฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดความสก ปรกและกลายเป็นฝุ่นฟุ้งกระจายไปในอากาศได้
3. ฝ่ายความมั่นคงหรือตำรวจทหารจะต้องเข้าไปดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขโมย ทรัพย์สินของบ้านเรือนในพื้นที่ที่ประสบภัย
4. เมื่อทำการล้างทำความสะอาดหรือฟื้นฟูบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมสามารถเข้าไปในบ้านได้และเกิดความปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว หน่วยราชการก็จะแจ้งให้ประชา ชนในศูนย์ที่พักพิงกลับมาที่บ้านเพื่อทำ การสำรวจทรัพย์สินความเสียหายเพิ่มเติม และรับเงินช่วยเหลือจากราชการตามการประเมินของทางราชการเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงบ้านเรือนต่อไป
5. กลับมามองที่ประเทศไทย พื้นที่ถูกน้ำท่วมกลับทำตรงกันข้ามกับนานาชาติโดยประชาชนต้องรีบกลับไปบ้านหลังจากน้ำลดได้เพียง 1 วัน เนื่องจากเกรงทรัพย์สินสูญหาย และใช้เงินส่วนตัวในการดูดเอาดินโคลนออกและล้างทำความสะอาดบ้านเรือนโดยมีราชการช่วยเหลือบ้าง
ขอบคุณข้อมูลจาก igreenstory