กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง ได้โพสต์โปสเตอร์ ฉลามไทย ผ่านเฟสบุ๊ก ‘กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง’ เป็นโปสเตอร์ชุดใหม่ที่รวมรวมสายพันธุ์ฉลามในทะเลไทยที่สมบูรณ์ที่สุด และเปิดให้สามารถโหลดไฟล์ขนาดใหญ่เก็บไว้
ข้อมูลของ International Union for Conservation of Nature (IUCN) และ Thailand Red List พบว่าฉลามที่พบในน่านน้ำไทยมีทั้งหมด 87 ชนิด มากกว่า 75% เป็นชนิดพันธุ์ที่หายาก หรือชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว 1 ชนิด คือ ฉลามหัวค้อนยาว
ฉลามไทย 5 สายพันธุ์เสี่ยงสูญพันธุ์ และอีก 25 ชนิดมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์
จากสถานการณ์ปัจจุบันมีสายพันธุ์ ฉลามไทย 5 ชนิดอยู่ในประเภท ‘ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง’ ได้แก่ ฉลามครีบขาว ฉลามน้ำจืด ฉลามหัวค้อน ฉลามหัวค้อนเรียบ และฉลามหัวค้อนหยัก 17 ชนิด อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ และอีก 25 ชนิดมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์
สำหรับประเทศไทยไม่ได้มีการทำประมงฉลามโดยตรง แต่ในการทำประมงบางครั้งจะพบฉลามติดอวนมาด้วย ซึ่งฉลามบางตัวจะถูกปล่อยคืนสู่ทะเล แต่หลายตัวถูกนำมาขายต่อตามท้องตลาดทั่วไป และจากสถิติพบว่าฉลามที่ถูกจับได้ส่วนใหญ่จะติดมากับอวนลากแผ่นตะเฆ่สูงถึง 85.17% และอวนลากคู่ 11.33%
ในปี 2546 ไทยจับฉลามได้จำนวน 1.4 หมื่นตันต่อปี แต่ปัจจุบันเหลือน้อยกว่า 5 พันตัน และคาดว่าจะลดลงเรื่อยๆ นับได้ว่าใน 18 ปี ที่ผ่านมา เราล่าฉลามออกจากท้องทะเลไทยแล้ว 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด และหากมองในภาพรวมทั่วโลกมีการล่าฉลาม 190 ตัวต่อนาที เฉลี่ย 100 ล้านตัวต่อปี
ฉลามและกระเบนของไทยอยู่ในบัญชีแนบท้ายหมายเลข 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) หรือ อนุสัญญาไซเตส เป็นสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ สำหรับชนิดพันธุ์ซึ่งอาจสูญพันธุ์ได้
ในปัจจุบันมีเพียงฉลามวาฬชนิดเดียวที่ได้รับการคุ้มครองโดยประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง ฉบับลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559 รวมทั้งได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวนจำพวกปลาตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
โดยมีฉลามเสือดาว และกลุ่มฉลามหัวค้อน 4 ชนิด ได้แก่ ฉลามหัวค้อนยาว ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ฉลามหัวค้อนยักษ์ และฉลามหัวค้อนเรียบหรือปลาฉลามหัวค้อนดำ (Sphyrna zygaena) ที่เตรียมเสนอให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกปลา ตาม พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2562
อย่างไรก็ตามกรมประมงได้ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงได้จัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 (NPOA-Sharks) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานโดยแบ่งออกเป็น 5 ประเด็น คือ
1. ศึกษาและการจัดทำฐานข้อมูลชีววิทยา นิเวศวิทยา การประมงและการใช้ประโยชน์ฉลามในน่านน้ำไทย
2. ประเมินสถานภาพและภัยคุกคามที่เกิดจากการประมงและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อฉลามอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
3. พัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถในด้านการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับฉลามของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
4. กำหนดมาตรการอนุรักษ์ควบคุมการทำประมง และการค้าฉลามที่สอดคล้องกับกฎระเบียบ ข้อกำหนด และพันธกรณีระหว่างประเทศ
5. พัฒนาและสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ และอนุรักษ์ทรัพยากรฉลาม
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก igreenstory