คลื่นความร้อนจากอุณหภูมิที่ร้อนจัดส่งผลให้ประชาชนในแถบเมดิเตอร์เรเนียน เสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ล่าสุดกระทบต่อการแข่งขันกีฬา โอลิมปิกปารีส
นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 2.5 ถึง 3.3 องศาเซลเซียส (°C) และยังเตือนว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บความร้อนอย่างต่อเนื่องจะทำให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดบ่อยขึ้น
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบโอลิมปิกเมื่อวันอังคาร” ดร.ฟริเดอริเก อ็อตโต นักภูมิอากาศวิทยาจากวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอนและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม World Weather Attribution ที่อยู่เบื้องหลังการวิเคราะห์กล่าว “โลกได้เห็นนักกีฬาเผชิญกับอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส หากไม่มีการปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ปารีสจะเย็นลงประมาณ 3 องศาเซลเซียส และจะทำให้การเล่นกีฬาปลอดภัยกว่านี้”
นักกีฬาอย่างเช่น ซิโมน ไบลส์ นักยิมนาสติกชื่อดังจากสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ที่ปารีสก็บ่นถึงผลกระทบจากอากาศที่ร้อนมาก รวมถึงนักกีฬาคนอื่นๆ ร้อนขนาดที่นักแล่นเรือสวมเสื้อกั๊กน้ำแข็งเพื่อต้องการความเย็น หรือแฟนๆ ที่ชมวอลเลย์บอลชายหาดใกล้หอไอเฟลถูกฉีดน้ำด้วยสายยาง ขณะที่น้ำพุหมอกได้ถูกตั้งขึ้นที่สเก็ตบอร์ดและสถานที่อื่นๆ ตลอดจนมีการแจกน้ำหลายล้านขวดที่สถานีรถไฟและรถไฟใต้ดิน
อุณหภูมิในเดือน ก.ค.ที่ทำให้อุณหภูมิพุ่งเกิน 40°C ในหลายแห่ง
ทำให้เกิดไฟป่าในโปรตุเกสและกรีซ เกิดการขาดแคลนน้ำในอิตาลีและสเปน ในขณะที่โมร็อกโกอุณหภูมิสูงถึง 48°C โดยโรงพยาบาลแห่งหนึ่งรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 21 ราย โดยมีข้อมูลว่าอากาศที่ร้อนจัดในฤดูร้อนปี 2022 ของยุโรป ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 61,000 ราย ใน 35 ประเทศตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.ถึงต้นเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงยุโรปร้อนเป็นประวัติการณ์
พร้อมระบุว่า ประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียนอย่าง กรีซ อิตาลี โปรตุเกสและสเปน มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด เมื่อพิจารณาจากขนาดประชากร อย่างเช่นที่อิตาลี มีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัด 18,010 คน สเปน 11,324 คน และเยอรมนี 8,173 คน
ดร.มาเรียม ซาคาเรียห์ นักวิจัยที่วิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน กล่าวว่า “[การวิเคราะห์ใหม่ของเรา] ช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ภัยคุกคามที่ห่างไกล แต่เป็นภัยคุกคามที่เร่งด่วนซึ่งกำลังทำให้ชีวิตบนโลกนี้อันตรายมากขึ้น”
จากอันตรายที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนทำให้ทั้งในฝรั่งเศส กรีซ อิตาลี สเปน และโปรตุเกส ต้องออกแผนปฏิบัติการรับมือความร้อน และระบบเตือนล่วงหน้า เช่น สถานีน้ำ การปฐมพยาบาล และการเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานสำหรับคนงานกลางแจ้ง
ล่าสุด หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปรายงานว่า วันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก นับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 1940 โดยอุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มสูงถึง 17.09 °C ซึ่งสูงกว่าสถิติก่อนหน้านี้คือ 17.08°C ที่บันทึกไว้เมื่อเดือนเดียวกันในปี 2023
โอลิมปิกปารีส โดนผลกระทบจากโลกร้อน นักกีฬาเสี่ยงอันตรายมากขึ้น
วิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้คลื่นความร้อนทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ยาวนานขึ้น และเกิดบ่อยขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้สรุปผลกระทบจากการวิจัยหลายร้อยชิ้นออกมาตรงกันว่า ขณะนี้ภาวะโลกร้อนครอบคลุมคลื่นความร้อน ไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุ รวมถึงเหตุการณ์ที่เป็นไปไม่ได้ในทางธรรมชาติเพิ่มจำนวนขึ้น และแสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์ได้ทำให้สภาพอากาศสุดขั้วทั่วโลกเลวร้ายลง
“ตราบใดที่มนุษย์ยังคงเผาไหม้น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน คลื่นความร้อนจะรุนแรงขึ้น และผู้คนจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากขึ้น” อ็อตโตกล่าวและว่า “วิธีแก้ปัญหาที่วิเศษที่สุดเพื่อไม่ให้สิ่งต่างๆ แย่ลงคือการเปลี่ยนเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนและหยุดการตัดไม้ทำลายป่า ยิ่งเราทำสิ่งนี้ได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น”
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “ผมต้องพูดถึงการขยายตัวของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เราเห็นในบางประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก” เขากล่าวหนึ่งวันหลังจากที่ The Guardian รายงานการสำรวจน้ำมันและก๊าซใหม่เพิ่มขึ้นในปี 2024 โดยมีประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเป็นผู้นำ โดยในปี 2023 ได้มีการแจกใบอนุญาตน้ำมันและก๊าซเป็นประวัติการณ์ถึง 825 ฉบับ
นอกจากนี้งานวิจัยนานาชาตินำโดยมหาวิทยาลัย Monash ประเทศออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัย Shandong ประเทศจีน เผยแพร่ใน Lancet Planetary Health สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างการเสียชีวิตและสภาพภูมิอากาศจากทุกภูมิภาคของโลก (global overview) ในห้วง 20 ปี ระหว่างปี 2543 – 2562 ที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 0.26 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ร้อนที่สุดตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม พบว่า การเสียชีวิตที่มากกว่า 5 ล้านรายต่อปี
ผลการศึกษาชี้ว่า 9.43% ของการเสียชีวิตทั่วโลกเป็นไปได้ว่าเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่ร้อนหรือหนาว เทียบได้กับการเสียชีวิตที่มากขึ้น 74 รายต่อทุกๆ 100,000 คน โดยการเสียชีวิตในแต่ละภูมิภาคได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมแตกต่างกันไป อาทิ แถบยุโรปตะวันออกมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มอันเป็นผลมาจากอากาศที่ร้อนสูงขึ้นมาก
ข้อมูลการเสียชีวิตจากอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมในช่วง 20 ปี มีดังนี้ แอฟริกา 1.2 ล้านคน เอเชีย 2.6 ล้านคน ยุโรป 835,000 คน อเมริกาใต้ 141,000 คน สหราชอาณาจักร 52,000 คน สหรัฐฯ 173,600 คน จีน 1.04 ล้านคน อินเดีย 74,000 คน และออสเตรเลีย 16,500 คน ในจำนวนนี้พบว่าการเสียชีวิตจากอากาศหนาวลดน้อยลง 0.51% ส่วนการเสียชีวิตจากอากาศร้อนเพิ่มขึ้น 0.21% ขณะที่การเสียชีวิตจากเหตุของอุณหภูมิอากาศทั้งหมดลดลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่มขึ้นชั่วคราวในเอเชียใต้และยุโรป
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก igreenstory