เมื่อปีที่แล้วฝั่งยุโรปเผชิญปัญหาอากาศที่ร้อนจัดกว่าปกติ ทางฝั่งปากีสถานเจอฝนตกหนักจนน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ มองไปที่ธารน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกก็ก่อตัวในระดับต่ำกว่าที่เคยมีมา รวมถึงปัญหามลพิษทางอากาศหรือมลพิษต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้พลังงานและทรัพยากรของเราทุกคน
นักวิทยาศาสตร์จาก EU Copernicus องค์กรสังเกตการณ์ความเป็นไปด้านธรรมชาติของโลก บอกว่า ‘โลกร้อนไม่ใช่ปัญหาในอนาคต แต่มันคือปัญหาในปัจจุบัน’ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความท้าทายให้เราทุกคนในฐานะประชากรโลก เพื่อหาวิธีรับมือ ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ที่นำไปสู่ความยั่งยืนให้ได้มากยิ่งขึ้น
ในหลายอุตสาหกรรมต่างตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุดตามวาระที่กำหนด อีกหลายภาคส่วนก็พยายามรณรงค์ลดการเผาผลาญพลังงานที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีการหาแนวทางการแก้ปัญหาโลกร้อนนี้กันอีกมากมายหลายวิธี
คอลัมน์ Green Insight อยากพาไปดูอีกหนึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่น่าสนใจ นั่นคือ การลดเวลาการทำงานให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ สิ่งนี้จะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง ไปดูกัน
ลดเวลางาน เพิ่มเวลาชีวิตให้คนทำงาน
ช่วงโควิดที่ผ่านมา รูปแบบการใช้ชีวิตได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และในช่วงเวลาวิกฤตของโรคระบาดก็ทำให้เห็นแล้วว่า ‘การทำงาน’ ได้แปรเปลี่ยนไปในทิศทางอื่นๆ เช่นกัน
4 Day Week Global กลุ่มองค์กรอิสระไม่แสวงผลกำไร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แห่งสหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยบอสตันแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ค้นคว้าและวิจัยการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน จนกลายเป็นต้นแบบของการทำงานรูปแบบใหม่กับหลายประเทศทั่วโลก หลังจากการทดลองครั้งแรกในสหราชอาณาจักรประสบความสำเร็จ และพบว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ส่งผลให้คนทำงานมีความเครียดน้อยลงโดยไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
การทดลองนี้มีบริษัทที่เข้าร่วม 61 แห่ง จากหลากหลายแวดวงอุตสาหกรรม และมีพนักงานเข้าร่วมกว่า 2,900 คน จากการลดเวลาทำงานให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ แต่ยังได้เงินเท่าเดิม พบว่าพนักงานรู้สึกเครียดน้อยลง นอนหลับได้ดีขึ้น และยังสามารถจัดสมดุลระหว่างงาน และเวลาที่เหลือช่วยให้สามารถออกแบบชีวิตของตัวเองได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
จากทั้งหมด 61 บริษัทที่เข้าร่วมการทดลอง มี 56 บริษัทที่ตัดสินใจขยายระยะเวลาการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ออกไปอีก และในจำนวนนี้มีอยู่ 18 บริษัทที่ประกาศให้การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นนโยบายถาวรของบริษัทแล้ว
มากไปกว่านั้น ยังมีประเทศไอซ์แลนด์ที่ถือเป็นผู้มาก่อนกาล เพราะเคยทดลองทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน ในปี 2015 – 2019 ซึ่งพบว่าการงานของพนักงานมีประสิทธิภาพและพวกเขามีความสุขมากขึ้น สวนทางกับความเครียดและความเหน็ดเหนื่อยที่น้อยลง
Gallup แพลตฟอร์มเก็บข้อมูลความเป็นอยู่ของพนักงาน ได้ทำการสำรวจคนทำงาน 12,000 คนทั่วสหรัฐฯ พบว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ทำให้พวกเขาเกิดความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น และยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีดังเดิม
ในปี 2019 บริษัทไมโครซอฟท์สาขาในญี่ปุ่นได้ทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ และเพิ่มวันศุกร์เป็นวันหยุดตลอดหนึ่งเดือน พบว่าพนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 39.9 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่งานวิจัยของ Karolinska Institutet สถาบันด้านการแพทย์ในสวีเดนพบว่า การลดเวลาทำงานลง 25 เปอร์เซ็นต์ ช่วยส่งเสริมสุขภาวะในการนอนหลับและลดความตึงเครียดลงได้ หรือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 พนักงานในเบลเยียมก็ได้รับสิทธิ์ที่เลือกได้ว่าจะทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์โดยไม่โดนถูกลดเงินเดือน หรือจะทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ตามปกติ
มากไปกว่านั้น ข้อมูลของบริษัทวิจัยอย่าง Milieu ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังพบว่า พนักงานจากสิงคโปร์ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ต่างก็อยากเปลี่ยนมาทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ก็ยังมีหลายประเทศที่ไม่ได้สนใจการลดเวลาทำงาน เนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น มาเลเซีย เมียนมา หรือกัมพูชา เป็นต้น
การระบาดของโควิดทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานแตกต่างออกไปจากอดีตอย่างเห็นได้ชัด การทำงานที่ยืดหยุ่นเรื่องเวลามากขึ้นหรือสามารถทำงานจากระยะไกล ได้เข้ามามีส่วนช่วยปรับปรุงชีวิตของพนักงานเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ยังช่วยปรับสมดุลระหว่างการทำงานและเอื้อให้พนักงานได้พักผ่อนมากขึ้น
นอกจากนี้ การทำงานที่ลดลงยังช่วยให้ชีวิตความสัมพันธ์ในครอบครัวและคนรอบข้างของพนักงานดีขึ้น มีเวลาใส่ใจการรับประทานอาหาร ได้ทำกิจกรรมที่ชอบ และได้ออกกำลังกาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ชีวิตมีความสุขมากกว่าที่ผ่านมา
ทำงานน้อยลง ดีต่อคนและสิ่งแวดล้อม
ตามรายงานของ 4 Day Week Campaign ทำให้เห็นว่า ผลพลอยได้จากการลดเวลาทำงานไม่ได้มีผลเชิงบวกแค่กับคนทำงานเท่านั้น เพราะการลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ยังสามารถช่วยลดปริมาณ Carbon Footprint ในสหราชอาณาจักรได้มากถึง 21.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และหากเริ่มต้นการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้ภายในปี 2025 จะช่วยลดการใช้พลังงานในออฟฟิศและลดการใช้ระบบขนส่งได้กว่า 127 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด ซึ่งเทียบเท่ากับการเลิกใช้รถยนต์ส่วนตัวของคนทั้งประเทศเลยทีเดียว
เป็นไปตามที่ Greenpeace ได้ประมาณการว่า การลดการทำงานให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์สามารถลดระยะการเดินทางได้ถึง 558 ล้านไมล์ต่อสัปดาห์ เมื่อพนักงานหลุดพ้นจากอาการเหน็ดเหนื่อยและน่าหงุดหงิดจากการเดินทาง ก็อาจมีส่วนช่วยให้พนักงานเลิกใช้รถ และหันมาขี่จักรยานเพื่อไปไหนมาไหนแทนได้
มีการทดลองในรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ลดการทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ และได้ลองวัดปริมาณ Carbon Footprint พบว่า ผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมในช่วง 10 เดือนแรกของการทดลองคือ ลดปริมาณ Carbon Footprint ได้ถึง 6,000 เมตริกตัน และลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปจากการใช้พลังงานได้มากถึง 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพียงแค่พนักงานไม่ต้องเดินทางออกจากบ้านไปทำงานแค่สัปดาห์ละ 1 วันเท่านั้น เช่นนี้ก็เป็นการลดภาวะโลกร้อนและทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้อย่างมหาศาล
และเวลาในการทำงานที่น้อยลงย่อมหมายถึงพนักงานเครียดน้อยลง มีเวลามากขึ้นสำหรับการดูแลตนเองและจิตใจ รวมถึงได้ใช้เวลาออกไปเที่ยวในธรรมชาติหรือมีเวลามากขึ้นสำหรับกิจกรรมต่างๆ ได้อีก ส่งผลให้ผู้คนเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นำไปสู่การรีไซเคิลและลดใช้พลังงาน
เมื่อมีเวลามากขึ้น พนักงานสามารถเข้าครัวทำอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการทดแทนการพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปที่สร้าง Carbon Footprint จากการผลิตเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีเวลาเที่ยว ได้ออกกำลังกาย ได้กินอาหารที่ดีต่อใจและดีต่อสุขภาพ ปัจจัยที่ดีเหล่านี้อาจจะช่วยให้คนทำงานพบแพทย์น้อยลง ช่วยประหยัดทรัพยากรหรือการผลิตได้อีกด้วย
การลดปริมาณ Carbon Footprint ยังทำได้มากกว่านั้นอีก เพราะเมื่อบริษัทลดเวลาการทำงานลง จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องทำความร้อนและสาธารณูปโภคต่างๆ สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยประหยัดเงินของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการสูญเสียพลังงานและการปล่อยมลพิษหลายล้านตัน ทั้งยังช่วยให้ขยะในสำนักงานน้อยลงอีกด้วย แต่ในโลกธุรกิจที่ยังคงมีปัจจัยเรื่องของรายได้ ตัวเลข และการแข่งขันต่างๆ ทำให้การยอมรับเงื่อนไขการทำงานรูปแบบใหม่เช่นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในบางธุรกิจเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมา
แต่จากข้อมูลต่างๆ ที่หยิบมานำเสนอนี้ก็เป็นดั่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มีประโยชน์ต่อทั้งผู้คนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก urbancreature