วันที่ 23 พฤษภาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันเต่าโลก’ หรือ World Turtle Day โดยองค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือเต่าบกและเต่าทะเล American Tortoise Rescue ในสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เป็นโอกาสในการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับเต่า รวมทั้งปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์เต่า เนื่องจากปริมาณประชากรเต่าที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
แม้เต่าจะขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน แต่จากรายงานสถานภาพสัตว์ทะเลหายาก ปี 2560 ของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กลับพบว่า สถิติการลดลงของเต่าทะเลยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ มีปัญหาการลักลอบเก็บไข่เต่า
อีกทั้งพื้นที่วางไข่และหากินของเต่าทะเลที่ลดลงจากการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่ง ทำให้สถิติการวางไข่ของเต่าทะเลลดลงเหลือเพียง 1 ใน 5 ส่วน ภายในระยะเวลา 60 ปี
ทั้งนี้ ในรายงานยังระบุด้วยว่า ในประเทศไทยมีการแพร่กระจายของเต่าทะเลจำนวน 5 ชนิด แต่กลับพบการวางไข่ของเต่าทะเลเพียง 4 ชนิด ได้แก่ เต่ามะเฟือง, เต่าหญ้า, เต่าตนุ และเต่ากระ โดยปัจจุบันเหลือแหล่งวางไข่เต่าทะเลที่สำคัญเพียง 10 แห่ง
โดยแหล่งวางไข่ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่บริเวณหมู่เกาะคราม รองลงมาเป็นหมู่เกาะสิมิลัน ปัจจุบันเต่าทะเลได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ โดยมีผลครอบคลุมไปถึงไข่ ซาก ตลอดจนชิ้นส่วนต่างๆ ของสัตว์เหล่านั้นด้วย
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก thestandard