น้ำท่วมโลก “พวกไม่มีแผ่นดินจะอยู่” เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยๆ พวกคิดคด นิสัยไม่ดี ทรยศ เนรคุณ จะต้องไม่ได้อยู่บนแผ่นดินอันอบอุ่น เมื่อก่อนเราคงรู้สึกว่าการไม่มีแผ่นดินอยู่ที่มันช่างแสนน่ากลัว แต่นอกจากคิดไปคิดมาว่าไม่อยู่บนแผ่นดินแล้ว เราจะไปล่องลอยอยู่บนก้อนเมฆ เหมือนบางคนที่อยู่บนเครื่องบินส่วนตัว ก็เริ่มมองเห็นว่า เออ เป็นไปได้

คอนเซปต์ ไม่มีแผ่นดินอยู่หมายถึงการถูกขับไล่ออกจากบ้านเกิดเมืองนอน ต้องระหกระเหินลำบากลำบนอะไรก็ว่าไป

แต่อันที่จริงในทางปฏิบัติ ด้วยปัญหาของการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศหรือ climate change การเปลี่ยนวงจรของน้ำ ของอากาศอาจทำให้มนุษย์เรา ‘ไม่มีแผ่นดินจะอยู่’ กันอย่างจริงจังจากน้ำท่วมใหญ่ ภาพจินตนาการของการลอยอยู่บนเรือ ไปจนถึงการที่เราเริ่มมองว่าเวลาของโลกนี้อาจจะใกล้หมดแล้ว และเราต้องปรับตัวอย่างจริงจังเพื่อให้เผ่าพันธุ์อยู่รอดต่อไปเริ่มต้องเป็นรูปธรรมมากขึ้น

พูดง่ายๆ คือทั้งเมืองใหญ่ๆ รวมถึงองค์กรใหญ่ๆ ชั้นแนวหน้า เช่น NASA หรือสตูดิโอสถาปนิกเริ่มมองเห็นว่าโลกร้อนมันกำลังเกิดขึ้นแล้ว และปลายทางของโลกที่เราชินๆ อาจใกล้เข้ามาทุกที มนุษย์เองก็เริ่มเสนอแผนอย่างจริงจังว่าถ้าโลกมันร้อนขึ้น และเงื่อนไขสำคัญคือแผ่นดินมันหายไปจริงๆ อยู่ไม่ได้จริงๆ แล้วจะทำยังไง เราก็เริ่มมีโมเดลเมืองลอยน้ำที่มีแนวทาง มีวัสดุที่เริ่มจริงจังมากขึ้น ไปจนถึงภาคต่อของการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ดาวอื่นที่เป็นความฝันของมนุษย์เรามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่ทาง NASA หรือจีนก็เริ่มหาทางสร้างอาณานิคมตามเงื่อนไขของดาวดวงนั้นๆ ซึ่งการหาดาวใหม่มันก็มาจากความคิดที่เราคิดลึกๆ แหละว่าเรากำลังทำโลกนี้พังอยู่

ดังนั้น ในความหมายหนึ่งคือถ้าภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปจนถึงจุดที่ไม่หวนกลับ เราจะไม่มีแผ่นดินอยู่กันอย่างจริงจัง และในโอกาสที่ดูเหมือนว่ามีคนเริ่มถูกขับไล่ให้ไม่มีแผ่นดินอยู่เยอะขึ้น เราจะพาไปดูโปรเจกต์เมืองที่ไม่ได้อยู่บนแผ่นดิน ว่าเอ้อ ถ้าเราจะไม่มีแผ่นดินอยู่จริงๆ เราจะไปอยู่ไหนได้บ้าง ทั้งอาณานิคมจากเครื่องพิมพ์สามมิติบนดาวอังคาร แผนสร้างฐานบนดวงจันทร์ หรือจะลอยอยู่บนน้ำกับโปรเจกต์เมืองลอยน้ำทั้งต้นแบบและที่ปีนัง หรือจะไปอยู่บนซากท่าเรือเก่าเช่นสวนใหม่ที่นิวยอร์ก ไปจนถึงเมืองลอยฟ้าที่เป็นแนวคิดสำหรับสร้างการอยู่อาศัยบนชั้นบรรยากาศดาวศุกร์

น้ำท่วมโลก อยู่บนผิวน้ำกับเมืองลอยน้ำฉบับจริงจัง

Oceanix City, BIG

โปรเจกต์นี้ถือว่าสร้างความฮือฮาให้โลกพอสมควร BIG หรือ Bjarke Ingels เป็นหนึ่งในสตูดิโอออกแบบชั้นแนวหน้าที่สร้างนวัตกรรมล้ำๆ ตอนหลังสตูดิโอสถาปนิกไม่ได้แค่สร้างตึกอาคาร แต่ออกแบบและวางคอนเซปต์เรื่องที่พักอาศัยไประดับเมืองเลย Oceanix City เป็นโมเดลเมืองใหม่ที่ BIG เสนอกับ UN ในการพูดคุยที่นิวยอร์ก ส่วนหนึ่งคือเป็นท่าทีต่อประเด็นที่อยู่อาศัยในอนาคตที่เราอาจจะเหลือพื้นที่ที่เป็นผิวดินน้อยลง หรือไม่เหลือเลย BIG ก็เลยเสนอเมืองลอยน้ำที่มีลักษณะเป็นโมดูลโดยใช้รูปทรงแปดเหลี่ยมประกอบขึ้นเป็นเมืองลอยน้ำ

เมืองลอยน้ำของ BIG โยงภาพรวมเหมือนเป็นการเสนอวิสัยทัศน์ของการอยู่อาศัยในอนาคต รวมถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยและเมืองเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤติ Oceanix City มองจากด้านบนจะเป็นหมู่เกาะที่มีรูปทรงหกเหลี่ยมที่ประกอบขึ้นจากเกาะขนาดเล็ก ตัวเมืองลอยน้ำแห่งอนาคตนี้จะรองรับผู้คนได้ราว 10,000 คน หมู่บ้านหนึ่งหมู่บ้านจะรวมขึ้นจากเกาะจำลองหกเกาะ ซึ่งโมดูลตรงนี้จะทำให้สามารถบริหารพื้นที่ได้ง่าย มีการจัดการสาธารณูปโภคที่เพียงพอ

โดยเมืองลอยน้ำแห่งนี้จะเน้นไปที่คุณภาพชีวิตและความยั่งยืนทั้งการใช้พลังงานสะอาด การออกแบบที่เน้นพื้นที่สีเขียวและการอยู่อาศัยร่วมกัน สำหรับฐานของเกาะจำลอง BIG เสนอให้ใช้วัสดุที่เรียกว่า Biorock คือเป็นวัสดุลอยน้ำที่ตัวมันเองสามารถแข็งแรงขึ้นได้เรื่อยๆ จากแร่ธาติในน้ำ และกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เช่น ปะการัง สาหร่ายทะเล หอยต่างๆ คือวัสดุจะทนทานขึ้น ทั้งสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นยังช่วยกรองทำความสะอาดน้ำ และเป็นพื้นที่ผลิตอาหารของเกาะลอยน้ำด้วย

ขายยางบนดาวอังคารใกล้เป็นจริง กับถิ่นฐานใหม่บนดาวอังคาร

3D-printed Martian Habitat, NASA

NASA คือจริงจังเรื่องโปรเจกต์ดาวอังคาร จากการส่งจรวดไปจนถึงดาวอังคาร จนล่าสุดเราได้เห็นสภาพพื้นที่จากรถโรเวอร์ที่วิ่งสำรวจบนผิวดาวได้สำเร็จซึ่งเราก็เจอหลักฐานสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร ดาวอังคารนี้ถือเป็นหมุดหมายโลกใหม่ของมนุษย์มาตั้งแต่การแปลคำว่า canale บนแผนที่ดาวอังคารจากนักดาราศาสตร์อิตาเลียนผิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จาก channel เป็น canal ที่แปลว่า ‘คลอง’ กลายเป็นโลกตะวันตกต่างคิดว่าบนดาวอังคารมีสัญญาณสิ่งมีชีวิต เรื่อยมาจนมีการศึกษา การเดินทางไป รวมไปถึงนวนิยายไซไฟ การสร้างถิ่นฐานบนดาวอังคารก็เริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

จริงๆ NASA เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีศักยภาพสูงสุดที่ว่าถ้าจะไปอยู่ดาวอังคารกัน และน่าจะเป็นทีมแรกๆ ที่ทำได้ ปัจจุบัน NASA ก็เดินหน้าค้นคว้าเพื่อไปสร้างถิ่นฐานบนเงื่อนไขของดาวอังคาร โดยก้าวปัจจุบันจะอยู่ที่ว่าถ้าไปจะทำยังไง จะไปสร้างอะไรบนนั้น ล่าสุดคือฝากความหวังไว้กับเครื่องปรินต์สามมิติ คือตัวเครื่องปรินต์ก็จะดึงเอาพวกแร่ธาตุและปรินต์ออกมาสร้างเป็นที่อยู่อาศัย ทุกวันนี้ก็ยังมีการแข่งขันอยู่ มีตัวโมเดลเครื่องปรินต์ออกมาแล้ว นอก NASA แล้วที่อื่นเช่นสหรัฐอาหรับเอมิเรต หรือโปรเจกต์เอกชนเช่น Mars One จากเนเธอร์แลนด์ก็ล้วนมีเป้าหมายย้ายไปอยู่ดาวอังคาร—ที่ๆ ไทยเคยจะเอายางไปขาย

น้ำท่วมโลก ลอยอยู่บนฟ้ากับที่มั่นบนชั้นบรรยากาศดาวศุกร์

HAVOC, NASA

น้ำท่วมโลก ไม่มีที่อยู่ กับแนวคิด Project ใหม่เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์

แผ่นดินไม่มีจะอยู่ยังไง ลอยฟ้าอยู่มั้ง … อันที่จริง เมืองลอยฟ้าเป็นเมืองในจินตนาการของเรา เรามีเกาะลอยฟ้าชื่อลาพิวต้าจากหนังสือเรื่องการเดินทางของกัลลิเวอร์ที่กลายเป็นการ์ตูนของจิบลิ หรือ Cloud City จากสตาร์วอร์ส สำหรับเมืองลอยฟ้าก็มีหลายไอเดียหลายแนวทาง มีพวกงานออกแบบเมืองในชื่อเดียวกันคือ Cloud City ของ CLOUDS AO สตูดิโอวิจัยทางสถาปัตยกรรม คือเสนอระบบบอลลูนเพื่อดึงเมืองขึ้นในกรณีที่เมืองเกิดภัยพิบัติร้ายแรงเช่นน้ำท่วมหรือแผ่นดินไหว โดยวางบ้านพักอาศัยที่มีระบบและสอดคล้องกับบอลลูนที่จะดึงขึ้นพร้อมกับแวร์เฮาส์

นอกจากเมืองในเมฆแล้ว NASA เองก็มีโปรเจกต์คล้ายๆ กัน ชื่อว่า HAVOC หรือ High Altitude Venus Operational Concept คือเป็นหนึ่งในแนวคิดที่ NASA ก็มองว่าดาวศุกร์เป็นอีกหนึ่งปลายทางสำคัญที่จะไปทำการสำรวจอย่างใกล้ชิด ด้วยสภาพผิวของดาวศุกร์นั้นมีสภาพที่เราทำอะไรไม่ได้ พื้นที่สำคัญที่ NASA มองว่าจะใช้จึงเป็นบริเวณชั้นบรรยากาศที่มีลักษณะใกล้เคียงกับบริเวณผิวโลก ดังนั้นการจะสำรวจดาวจึงต้องใช้พื้นที่ชั้นบรรยากาศด้านบนของตัวดาวเป็นฐานที่มั่นสำคัญ โปรเจกต์ HAVOC จึงเป็นเหมือนสถานีวิจัยลอยฟ้า หน้าตาเหมือนบอลลูนที่จะลอยอยู่เหนือผิวดาว

ปลูกยางไม่ได้ ปลูกไผ่ไปก่อน โครงการบ้านสีเขียวบนดาวอังคาร

Seed of Life, Warith Zaki and Amir Amzar

ใน Martian หนังปี ค.ศ.2015 สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันในปี ค.ศ.2011 ในเรื่องเราจะเห็นการปลูกมันฝรั่งบนดาว แน่นอนว่าการผลิตอาหารเป็นประเด็นสำคัญ ตอนหลังเช่นในปี ค.ศ.2017 นักวิทยาศาสตร์เปรูก็ทำการจำลองและยืนยันว่าเราสามารถทำการเกษตรบนดาวอังคาร สามารถปลูกมันได้ ตอนหลังจีนก็มีโปรเจกต์ว่าจะสร้างแปลงมันฝรั่งบนดาวอังคารด้วย—แต่สำหรับยางพาราที่นายกเคยกล่าวไว้นั้นไม่แน่ใจว่าจะปลูกได้ไหม

นอกจาก NASA แล้ว ภารกิจสู่ดาวอังคารเป็นสิ่งที่หลายคนฝันถึงและอยากร่วมคิด ปัจจุบันภาพหลักที่เรามองชึ้นไปคือการขนเครื่องปรินต์ขึ้นไปแล้วใช้แร่ธาตุบนดาวสร้างเป็นอาคาร ทีนี้มองจากมุมเอเชียก็อาจจะรู้สึกว่าแห้งแล้ง ทางทีมสถาปนิกมาเลเซียนำโดย Warith Zaki และ Amir Amzar เลยเสนอโปรเจกต์ชื่อ Seed of Life เสนอการสร้างอาณานิคมด้วยต้นไผ่

โปรเจกต์นี้จะส่งแผงถาดเพาะที่มีเมล็ดพันธุ์ไผ่ขึ้นไป เมื่อไปถึงจะฝังฐานลงไปบริเวณที่เหมาะสม คือใช้ทั้งน้ำแข็ง มีระบบดูดน้ำเลี้ยง จนกระทั่งเมื่อต้นไผ่โตก็จะใช้เอไอตัดและสานต้นไผ่ขึ้นเป็นอาคาร ทางเจ้าของโปรเจกต์บอกว่าแผงเพาะต้นไผ่สามารถส่งขึ้นไปได้ง่าย ต้นไผ่น่าจะเติบโตได้ดีด้วยคาร์บอนที่หนาแน่นบนดาว โดยการใช้ฐานการสร้างอาคารที่เป็นพืชนั้นก็มีความออแกนิก ทำให้น่าอยู่มากกว่าตึกแข็งๆ ตามแนวทางบอกว่าจะใช้เวลาปลูกประมาณหกปีก็สามารถสร้างที่พักอาศัยได้

เกาะเทียมลอยน้ำใกล้บ้าน โครงการเมืองสีเขียวที่ปีนัง

BiodiverCity, BIG

น้ำท่วมโลก ไม่มีที่อยู่ กับแนวคิด Project ใหม่เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์

อีกหน่อยถ้าโดนไล่ให้ไม่มีแผ่นดินอยู่อาจไม่ต้องไปไกล เพราะปีนังมีโครงการพัฒนาชื่อ BiodiverCity เอาจริงๆ คือเป็นโปรเจกต์น่าอิจฉาเพราะเป็นงานออกแบบเมืองใหม่จาก Bjarke Ingels ภายใต้การว่าจ้างของรัฐปีนังและสถาปนิกท้องถิ่น เมืองใหม่นี้จะเป็นแบบจำลองลอยน้ำทรงใบบัวลอยอยู่ในทะเลนอกตัวเกาะ เมืองใหม่นี้ถูกออกแบบให้เป็นปลายทางระดับโลก เป็นเมืองสีเขียวที่เน้นคุณภาพชีวิตและความยั่งยืน เกาะมีขนาดประมาณ 1800 เฮกเตอร์ BIG ออกแบบเป็นคลัสเตอร์ย่อยๆ มีส่วนที่เป็น mixed-Use มีส่วนที่พักอาศัย และจะมีสวนขนาด 240 เฮกเตอร์ ชายหาดยาว 4.6 กิโลเมตร และพื้นที่ริมน้ำยาว 25 กิโลเมตร

ตัวโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการปีนัง 2030 คือจะเปลี่ยนโฉมปีนังไปสู่เมืองแห่งอนาคตอย่างแท้จริง และแน่นอนตามสไตล์ BIG ไม่ล้ำ ไม่เล่นใหญ่ ไม่รอบด้าน ไม่ทำ ตัวเกาะแห่งนี้จะเน้นสร้างขึ้นจากวัสดุหมุนเวียน ใช้ทรัพยากรไม้ ไม้ไผ่ และคอนกรีตสีเขียวของมาเลเซียเอง สำหรับพลังงาน อาหาร และการจัดการขยะจะเป็นระบบหมุนเวียนและยั่งยืนทั้งหมด จากภาพคือมีความเป็นเมืองแห่งอนาคต มีระบบขนส่งขนาดเล็ก BIG ให้สัมภาษณ์ว่ากลางเกาะจะเป็นสวน มีเกาะย่อยๆ

โดยพื้นที่เกาะสำหรับพักอาศัยวางไว้ว่าน่าจะรองรับประชากรได้ราว 15,000–18,000 คน มีลากูน มีสวนดิจิทัลเป็นหัวใจของเกาะทั้งหมด มีพื้นที่ธุรกิจ ตัวเกาะเน้นการรักษาความหลากหลายชีวภาพของชายฝั่งและป่าชายเลนเดิม ถ้าทำได้จริงปีนังจะกลายเป็นดินแดนใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ของสตูดิโอระดับโลก

ย้ายไปดวงจันทร์กับความฝันล่าสุดจากจีนและรัสเซีย

International Lunar Research Station

ดวงจันทร์เป็นสิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวัน และการไปเหยียบดวงจันทร์ก็ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของเรา ปัจจุบันภารกิจกลับไปดวงจันทร์อีกครั้งกำลังได้รับการรื้อฟื้นทั้งของ NASA เองที่ครั้งนี้วางไว้ว่าจะมีนักบินอวกาศหญิงและทีมงานที่มีความหลากหลาย มีการจัดประกวดส้วมไปเมื่อราวสองสามปีที่แล้ว ความฝันที่จะสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์จริงๆ ถือว่าไม่ไกลมาก เพราะแน่นอนเราเคยไปมาแล้ว และดวงจันทร์ก็ถือว่าใกล้ นับตั้งแต่ที่เราแหงนมองขึ้นฟ้า เราก็มีโปรเจกต์สร้างฐาน สร้างสถานีวิจัยบนดวงจันทร์เรื่อยมา

เช่น จากความรู้เรื่องฝุ่นบนดวงจันทร์อันกลายเป็นอุปสรรคการอยู่อาศัยของมนุษย์ในเวลาต่อมา ในปี ค.ศ.1959 มีบทความวิจัยชื่อ Basic Criteria for a Moon Building ของ Dr. John S. Rinehart ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและวิทยาลัยเหมืองแร่แห่งโคโลราโดเลยเสนอโครงสร้างอาคารที่สามารถอยู่บนทะเลฝุ่นได้ มีลักษณะเป็นทรงกระบอก และมีรูปทรงโดมด้านบน ซึ่งก็ดูจะเป็นรากฐานจินตนาการของฐานบนดวงจันทร์ที่พัฒนากันในยุคต่อๆ มา

ล่าสุดที่ค่อนข้างฮือฮาคือการประกาศความร่วมมือของจีนและรัสเซียว่าจะสร้างสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ร่วมกันเมื่อช่วงต้นปี ค.ศ.2021 ที่ผ่านมา มีข่าวลือว่าทางจีนหวังว่าโครงการนี้จะสำเร็จภายในปี ค.ศ.2031 ซึ่งคืออีกแค่สิบปี สำหรับดวงจันทร์ก็ถือที่หมายตาของหลายๆ คน ญี่ปุ่นเคยประกาศสร้างฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ในปี ค.ศ.2030 ไว้เมื่อปี ค.ศ.2006 ส่วนในปี ค.ศ.2016 ก็เคยมีโปรเจกต์สร้างหมู่บ้านนานาชาติบนดวงจันทร์ แต่ว่าโจทย์สภาวะอากาศของดวงจันทร์นั้นถือเป็นโจทย์ที่ยังเป็นไปได้ยากอยู่สำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์

ไม่มีแผ่นดินไม่เป็นไร สร้างสวนสีเขียวใหม่บนซากท่าเรือ

Little Island, Heatherwick

น้ำท่วมโลก ไม่มีที่อยู่ กับแนวคิด Project ใหม่เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์

ถ้าบอกว่าไม่มีแผ่นดิน เราไปอยู่บนน้ำก็ได้ โปรเจกต์นี้ไม่ต้องไปไกลถึงต่างดาวหรือรออีกนาน คือสร้างเสร็จเรียบร้อยกับโปรเจกต์ชื่อ Little Island ที่นิวยอร์ก คือตอนหลังนิวยอร์กสร้างพื้นที่สาธารณะเยอะ และหลายงานเป็นเหมือนโชว์เคสทางสถาปัตยกรรม รวมถึงเป็นการพัฒนาเมืองจากพื้นที่พังๆ

สำหรับ Little Island คือเป็นเกาะใหม่แม่น้ำฮัดสัน ตัวเกาะมีเป็นสวนสวย แต่เดิมเคยเป็นท่าเรือ Pier 54 โครงสร้างเก่าแก่ที่รอดเหลือมาจากยุคเรือไททานิกในปี ค.ศ.1912 ทางแมนฮัตตันและทีมออกแบบนำโดย Heatherwick สตูดิโอชั้นนำที่ทำพื้นที่สาธารณะล้ำๆ หลายแห่งของโลกเลยเสนอเปลี่ยนตอม่อเก่าๆ นี้ให้กลายเป็นสวนลอยน้ำจนได้ชื่อว่าเกาะน้อย โดยเปิดทำการให้เข้าเดินเล่นได้แล้ว

ประเด็นสำคัญของเกาะสวนสาธารณะใหม่นี้คือเป็นการสร้างสวนแบบใหม่ที่ลอยอยู่กลางน้ำ ทีมออกแบบตั้งใจออกแบบให้เหมือนกับว่าเกาะแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เราตัดขาดออกจากนิวยอร์ก ไปสู่พื้นที่สงบสวยงามใหม่ ตัวสวนจะได้รับการออกแบบโดยเน้นความหลากหลายทั้งการใช้พื้นที่ และความรู้สึกในการเยี่ยมชมสวนที่ต่างออกไปในแต่ละช่วงเวลาและในแต่ละมุมของสวน อันที่จริงนอกจากสวนกลางน้ำที่แม่น้ำฮัดสันนี้ บ้านเราก็มีสวนกลางน้ำเจ้าพระยาที่คล้ายๆ กัน เป็นสวนสะพานด้วน สวนแนวยาวที่ปรับสะพานเก่าและกลายเป็น พระปกเกล้าสกายปาร์คในปัจจุบัน

ขอบคุณแหล่งที่มาจาก thematter

“กาแฟและถ้วยกินได้” ไอเดียเจ๋งของคนไทย รักสุขภาพ รักโลก “Zero Waste”

Previous article

Eco-Friendly Event เทรนด์อีเว้นท์รักษ์โลก

Next article

You may also like

More in Innovation