ความต่างของ กัญชา (marijuana) และ กัญชง (hemp) เป็นพืชคนละชนิด แต่อยู่ในวงศ์ Cannabaceae เหมือนกัน ลักษณะทางกายภาพต่างกันเล็กน้อย ปริมาณสารสำคัญแตกต่างกัน นั่นทำให้การใช้งานของกัญชาและกัญชงไม่เหมือนกัน
กัญชงไม่ใช่พืชที่นิยมนำมาเสพเหมือนกัญชา เพราะมีสาร THC ปริมาณน้อยกว่ามาก ไม่มีผลทำให้มึนเมา แต่มีเส้นใยปริมาณมากและคุณภาพสูงกว่ากัญชา กัญชงจึงถูกนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ใช้เป็นเส้นใยธรรมชาติ ผลิตวัสดุสิ่งทอ กระดาษ เชือก
นอกจากนี้เมล็ดกัญชงยังนำมาสกัดน้ำมันเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ชนิดเดียวกับที่พบในน้ำมันปลา
ก่อนถูกจัดเป็นยาเสพติด กัญชงเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจเก่าแก่ที่สุดในโลก และการเพาะปลูกอย่างจริงจังมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 เพื่อผลิตเชือก ผ้า สกัดน้ำมันสำหรับจุดไฟ และใช้เป็นยาสมุนไพร
ดังนั้น หากจะกล่าวว่า กัญชาเป็นพืชพารวย เพราะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอื่นๆ เราไม่ควรมองข้ามกัญชง ที่หลุดจากสถานะยาเสพติด และกำลังจะมีกฎหมายรับรองเทียบเท่ากัญชา แต่ใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมได้มากกว่า
‘เส้นใย กัญชง’ และความแข็งแรงที่มาจากการดูดซับคาร์บอน
ประโยชน์จากเส้นใยกัญชงเป็นที่รับรู้กันมานานนับศตวรรษ แต่เพราะกฎหมายที่มัดรวมกัญชาและกัญชง ประโยชน์และมูลค่าทางอุตสาหกรรมในแต่ละประเทศค่อยๆ ลดน้อยถอยลง จนบางที่เป็นได้แค่วัชพืชข้างทาง
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วัสดุธรรมชาติเป็นที่นิยมด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม กัญชงก็กลับมาเป็นที่นิยม และไม่ใช่แค่ใช้เส้นใยมาเป็นวัสดุเท่านั้น กัญชงยังเป็นพืชที่จะมีบทบาทสำคัญในการลดโลกร้อนได้
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มนุษย์พยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรารู้กันดีว่าป่าไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี แต่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่กำลังบอกเราว่า กัญชงทำได้ดีกว่านั้น
แบรนด์จะปรับตัวอย่างไร เมื่อความยั่งยืนกลายเป็น ‘จุดขาย’ ในช่วง Peak Season ที่ผ่านมา
งานวิจัยที่เผยแพร่ใน Science Direct บอกว่า กัญชงคือพืชที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการดูดซับคาร์บอน กัญชงเป็นหนึ่งในพืชที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก สามารถสูงได้ถึง 4 เมตรใน 100 วัน โดยกัญชงมีประสิทธิภาพ 2 เท่าของไม้ยืนต้นในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน โดยพื้นที่ปลูกกัญชงประมาณ 6.3 ไร่ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 8-22 ตันต่อปี ซึ่งมากกว่าป่าไม้ในพื้นที่เท่าๆ กัน
และสิ่งที่ทำให้กัญชงมีคุณภาพสูงก็คือคาร์บอนไดออกไซด์นี่เอง โดยคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกเก็บถาวรในเส้นใยกัญชง ทำให้มันมีเหมือนเส้นใยคาร์บอนที่นำไปใช้เป็นฉนวนอาคารได้ นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เส้นใยกัญชงยังถูกนำไปพัฒนาเป็นชิ้นส่วนของรถยนต์ BMW แทนพลาสติก เพราะถักทอแล้วมีความแข็งแรงไม่แพ้วัสดุไฟเบอร์อื่นๆ
ไม่นานมานี้ ความแข็งแรงของเส้นใยกัญชงที่ได้มาจากการสะสมคาร์บอนได้ถูกนำไปพัฒนาเป็นวัสดุคอมโพสิตชีวภาพ โดยสตาร์ตอัพสัญชาติแคนาดา INCA Renewable Technologies เพื่อเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้น สำหรับใช้เป็นส่วนประกอบยานพาหนะและใบพัดกังหันลม ในชื่อ INCA BioPlastics และ INCA BioBalsa เพราะวัสดุที่ผสมผสานเส้นใยกัญชงช่วยลดปริมาณเรซิน ทำให้น้ำหนักเบา ลดต้นทุน และพัฒนาความแข็งแรงได้ง่าย
กัญชง = พืชคาร์บอนเครดิต
ที่สกอตแลนด์ มีการปลูกกัญชงในอเบอร์ดีนเชียร์ (Aberdeenshire) สกอตแลนด์ ด้วยวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม คือพัฒนาให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศเป็นกลางทางคาร์บอน
การศึกษาเรื่องกัญชงกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันโรเว็ตต์ (Rowett Institute) มหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน, รูรัล คอลเลจ (Rural College), สมาคมองค์การการเกษตรแห่งสกอตแลนด์ และสมาคมกัญชาแห่งสกอตแลนด์
ปี 2018 ภาคเกษตรกรรมของสกอตแลนด์ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 7.5 ล้านตัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่า กัญชงสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าไม้ยืนต้น 2 เท่า จากการทดลองในพื้นที่ปลูกกัญชงประมาณ 1 เฮกเตอร์ หรือ 6.25 ไร่ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 22 ตัน ถ้าใช้ตัวเลขนี้เป็นฐาน หากปลูกกัญชง 1 ล้านไร่ โดยปลูกหมุนเวียน 2 รอบ ก็จะสามารถดูดซับคาร์บอนจากภาคการเกษตรได้ทั้งหมด
และรายงานวิจัยนี้สนับสนุนแนวทางพัฒนาการปลูกกัญชงทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในฐานะพืชคาร์บอนเครดิต ซึ่งทำหน้าที่เป็น ‘ใบอนุญาตสำหรับการปล่อยมลพิษ’ (permission slips for emissions)
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก plus.thairath