กระแส “แฟชั่นรักษ์โลก” ยังเป็นเทรนด์มาแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะแนวคิดนี้ทำให้เราสามารถสวยไม่ตกเทรนด์ ควบคู่กับการดูแลโลกและสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน
ล่าสุด นักออกแบบจากสถาบันวิลเล็ม เดอ คูนิ่ง ในร็อตเธอร์ดัม (Willem de Kooning Academie in Rotterdam) ได้นำเศษผักและผลไม้เหลือทิ้งมาเข้ากระบวนการแปรรูปให้กลายเป็นแผ่นผลไม้คล้ายหนัง และผลิตออกมาเป็น “กระเป๋า” (Fruit Leather) ที่มีดีไซน์สวยงาม แถมยังช่วยลดจำนวนขยะให้กับโลกใบนี้ได้เป็นอย่างดี
Fruit Leather จากขยะผักผลไม้เหลือทิ้ง แปรรูปสู่หนังเทียม
ที่ผ่านมา เครื่องหนังหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้หนังสัตว์เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะให้ความรู้สึกหรูหรา ทว่าการผลิตกระเป๋าหนังสักใบ หรือเฟอร์นิเจอร์หนังสักชิ้น ต้องใช้หนังสัตว์จำนวนมาก ข้อมูลของสถาบันวิลเล็ม เดอ คูนิ่ง พบว่า ในแต่ละปีมีสัตว์กว่าพันล้านตัวถูกฆ่าเพื่อนำหนังมาใช้งาน ส่วนการใช้หนังเทียม แม้จะช่วยลดผลกระทบจากการใช้หนังสัตว์ลง แต่ในกระบวนการผลิตก็ก่อให้เกิดมลพิษเช่นกัน เพราะต้องใช้สารเคมี และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกสู่บรรยากาศจำนวนมาก
ทีมงานจากสถาบันวิลเล็ม เดอ คูนิ่ง จึงมองว่าหากมีตัวเลือกอื่นที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแทนหนังสัตว์ได้ น่าจะช่วยโลกได้มากขึ้น จึงเริ่มสำรวจ และพบว่า แต่ละวันร้านค้าที่ตั้งร้านขายของในตลาดกลางแจ้งรอบๆ เมืองร็อตเธอร์ดัม มักจะทิ้งผักและผลไม้ที่เน่าเสียหรือไม่สามารถเอาไปขายได้ประมาณ 3,500 กิโลกรัมต่อวัน โดยพ่อค้าแม่ค้าต้องจ่ายเงินค่ากำจัดขยะจากเศษผักผลไม้เหล่านี้ 10 เซนต์ ต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 4 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งบางคนไม่สามารถจ่ายได้ ทำให้เกิดการทิ้งขยะแบบผิดกฎหมายอยู่บ่อยๆ
ยิ่งไปกว่านั้น ใครจะคาดคิดว่า การย่อยสลายของเศษผักและผลไม้เหล่านี้ ยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของ “ภาวะโลกร้อน” ตามมาได้
จากปัญหาดังกล่าว จึงทำให้ทีมงานจากสถาบันวิเล็ม เดอ คูนิ่ง เกิดไอเดียไม่เหมือนใคร โดยนำเศษผักและผลไม้เหล่านี้มาแปรรูปให้เป็นหนังแผ่นซะเลย ซึ่งลักษณะคล้ายกับหนัง เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตกระเป๋าหนังผลไม้ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ที่สำคัญเจ้ากระเป๋าจากผักผลไม้เหล่านี้ ยังให้ความสวยงาม แข็งแรง และสามารถใช้งานได้จริง แถมยังช่วยจัดการกับปัญหาขยะผักและผลไม้ที่มีปริมาณมหาศาลได้อีกด้วย
สำหรับผักผลไม้ที่นำมาใช้ในการทำหนังสำหรับผลิตกระเป๋า มีตั้งแต่สัปปะรด, มะม่วง แอปเปิล ไปจนถึงองุ่น โดยบริษํทที่ประสบความสำเร็จในการนำผักผลไม้มาแปรรูปเป็นเครื่องหนัง หนึ่งในนั้นคือ Pinatex ที่นำใบสัปปะรดเหลือทิ้งมาผลิตเป็นเครื่องหนังสัปปะรด หรือเจ้าของสตาร์ทอัพอย่าง Fruitleather Rotterdam ที่นำมะม่วงที่ล้นตลาดมาบด และต้ม จากนั้นนำมาผสมกับส่วนผสมตามธรรมชาติ ก่อนจะแผ่ให้เป็นแผ่นหนัง และเมื่อตากจนแห้ง ก็สามารถนำไปตัดรองเท้าและกระเป๋าได้อย่างสวยงามจนไม่เชื่อ
ทั้งนี้ หากมีการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติม ทางทีมงานเชื่อว่าอนาคตของเครื่องหนังผลไม้แผ่นสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องหนังได้หลากหลายประเภท ถึงแม้ว่าการใช้งานบ่อยๆ สภาพหนังผลไม้จะสู้เสน่ห์หนังแท้จากสัตว์ไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ การจัดการกับเศษผักผลไม้ที่เหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์ ก็สามารถช่วยลดขยะจากอาหารเหล่านี้ได้อย่างมหาศาลทีเดียว
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก brandbuffet