ใน 1 ปี คุณซื้อเสื้อผ้าใหม่ทั้งหมดกี่ตัว?
ในโลกที่กระแสทุนนิยมวนเวียนไปทั่วอย่างไม่อาจต้านทานได้ การมาของ fast fashion ที่เน้นการผลิตเสื้อผ้าแบบเร็วๆ ราคาถูก ใช้ได้ไม่นาน จึงเติบโตขึ้นอย่างหนัก กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบไปทั่วทุกพื้นที่ พร้อมกับการตั้งคำถามเรื่องศีลธรรมแรงงานและปัญหาสิ่งแวดล้อม นำไปสู่กระแสตอบโต้และแนวคิดที่เรียกว่า ‘slow fashion’
slow fashion คืออะไร?
ถ้าจะให้อธิบายอย่างสั้นที่สุด slow fashion ก็คือขั้วตรงข้ามของคำว่า fast fashion นั่นแหละ
ความหมายของ fast fashion ก็คือเสื้อผ้าที่ผ่านการผลิตแบบเร่งด่วน ในปริมาณมากๆ ด้วยต้นทุนต่ำเพื่อให้ผู้คนจับจ่ายได้ในราคาถูก และเป็นแฟชั่นที่ใช้ไม่นานก็ทิ้งได้เร็ว หรือกล่าวแบบย่อได้ว่า เป็นแฟชั่นที่มีวงจรสั้นๆ นั่นเอง
ปัญหาหลักๆ ของเรื่องนี้ก็คือ ความมาไวไปไวของ fast fashion ที่ทำให้เกิดประเด็นชวนตั้งคำถามหลายอย่างตามมา ทั้งคำถามด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตเสื้อผ้า fast fashion ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่าง น้ำ ปิโตรเลียม ถ่าน และทรัพยากรอื่นๆ อีกมาก ไปจนถึง คำถามต่อปัญหาการใช้แรงงานมนุษย์ในประเทศโลกที่สามอย่างกดขี่และไม่เป็นธรรม
รายงานของ Pulse of the Fashion Industry เมื่อปี 2018 ระบุว่า จากเสื้อผ้าทุกประเภทแล้ว มีเพียงแค่ไม่ถึง 1% ที่ถูกนำมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ ซึ่งหมายความว่า เสื้อผ้าที่ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปีนั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานระยะยาว หรือสำหรับการรีไซเคิลใหม่ แต่เป็นเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบมาให้ใช้ในระยะสั้นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคไปซื้อเสื้อผ้าใหม่
ประเด็นเหล่านี้นำไปสู่กระแสต่อต้าน fast fashion ด้วยการรณรงค์ให้เลิกสนับสนุนเสื้อผ้าที่เข้ากับคอนเซปต์ความเป็น fast fashion เหล่านี้เสีย ถึงอย่างนั้น fast fashion ก็กระจายอยู่รอบๆ ตัวเราไปแล้ว จะให้คนเลิกซื้อเสื้อผ้าเหล่านี้ขั้นเด็ดขาดเลย ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ด้วยเหตุนี้ คำว่า “slowfashion” จึงถือกำเนิดขึ้น โดยอย่างที่บอกไปว่า คอนเซปต์นี้เป็นขั้วตรงข้ามของ fast fashion ดังนั้น หลักใหญ่ใจความของ slow fashion ก็คือ กระแสเรียกร้องให้ผู้คนใส่เสื้อผ้านานๆ โดยที่เสื้อผ้าเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลร้ายธรรมชาติและมีจริยธรรมต่อทุกคน
ผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า slowfashion คนแรกก็คือ เคท เฟลทเชอร์ (Kate Fletcher) ศาสตราจารย์ด้านความยั่งยืน การออกแบบและแฟชั่นจาก University of the Arts London’s Center for Sustainable Fashion โดยกระแสของคำนี้ เริ่มมีมาให้เห็นกันในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ด้วยความหวังว่า การใส่เสื้อผ้าอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของเราจะไม่ไปทำร้ายธรรมชาติและเพื่อนร่วมโลกให้ได้มากที่สุด
เมื่อสินค้ารักษ์โลกแพงไป การใช้ของให้นานจึงเป็นทางออก
ถึงจะมีแบรนด์เสื้อผ้าที่ตรงตามหลักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ราคาของเสื้อผ้ารักษ์โลกส่วนใหญ่ก็แพงหูฉี่ หลายแบรนด์มีราคาสูงไปถึงหลักพันเป็นอย่างต่ำ ดังนั้น การจะดึงดันให้ทุกคนหันไปสนับสนุนแบรนด์เหล่านี้ คงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ยิ่งในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงลิบแล้ว การเรียกร้องให้คนรักษ์โลกโดยไม่สนใจว่าผู้คนจำนวนมากต้องหาเช้ากินค่ำ และมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องรับผิดชอบ จึงถือเป็นเรื่องที่โหดร้ายเช่นกัน
ยิ่งกว่านั้น หลายคนอาจคิดว่า จะรักษ์โลกทั้งทีก็วุ่นวายเสียเหลือเกิน โน่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็ทำไม่ได้ เพราะล้วนแล้วแต่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมไปเสียหมด
หากไม่สะดวกใจจะซื้อเสื้อผ้าที่ราคาแพง การหันไปซื้อเสื้อผ้ามือสองก็เป็นอีกวิธีหนึ่งเหมือนกันนะ เพราะการซื้อเสื้อผ้ามือสองแทนของใหม่ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน
ขณะที่ อีกหนึ่งทางออกที่ง่ายกว่าก็คือ การใส่เสื้อผ้าให้นานขึ้น ซึ่งรายงานเรื่อง Fast fashion’s environmental impact: More clothes to the landfill จากสำนักข่าว NBC ระบุว่า การใส่เสื้อผ้าให้นานขึ้นอีก 9 เดือน จะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับเสื้อผ้านั้นลงไปได้ถึง 30%
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก thematter