Bitcoin : จากข่าวดังครั้งที่แล้ว กลายเป็นเรื่องราวที่ชวนคิด และก่อให้เกิดเป็นความกังวลว่า เหรียญคริปโต หรือบิตคอยน์ ในอนาคตจะเป็นยังไงต่อไป..? จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน เพราะตอนนี้ปัจจุบันก็มีหลายเหรียญเกิดขึ้นมาใหม่มากมาย มีการซื้อขายกันมากขึ้น มีการขุดกันมากขึ้น คนที่ไม่อยากซื้อขาย ก็หันมาลงทุนซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์มาแทน ทำให้กระแสนั้นมีมาโดยตลอด เป็นประเด็นร้อนที่น่าจับตา
เหตุผลของอีลอน มัสก์คือ “กังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ เคยกล่าวไว้ว่าเขาไม่คิดจะลงทุนในบิตคอยน์ เพราะนี่คือกิจกรรมที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมโลกมากจนเกินไป
ทำไมขุดบิตคอยน์ Bitcoin ทำลายทรัพยากรโลก
คำถามคือการ “ขุดบิตคอยน์” มันใช้พลังไฟฟ้ามากขนาดไหน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?
ข้อมูลจากหน่วยงานที่อังกฤษระบุว่า ปัจจุบันการขุดบิตคอยน์จากทั่วโลกใช้พลังงานมากพอๆ กับการใช้ไฟฟ้าทั้งปีของประเทศสวีเดน
ขณะที่ข้อมูลจาก Digiconomist เผยว่า การทำธุรกรรมบิตคอยน์เพียงครั้งเดียว ใช้พลังงานพอๆ กับค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้า 1 เดือนของครัวเรือนอเมริกันเลยทีเดียว แถมยังปล่อยคาร์บอนสู่โลกมากกว่าการทำธุรกรรมผ่านวีซ่าถึงเกือบล้านเท่า
นั่นหมายความว่า ในขณะที่บิตคอยน์สร้างกำไรอย่างงามให้กับนักลงทุน แต่เงินดิจิทัลนี้กลับกลายเป็นภัยคุกคามอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นตัวการที่ปล่อยมลพิษมาสู่โลกเสียเอง และกับบริษัทใดๆก็ตาม ที่มีความผูกพันกับบิตคอยน์ ก็จะถูกตั้งคำถามตามไปด้วยว่า มีความห่วงใยกับสิ่งแวดล้อมของโลกนี้แค่ไหน
ทำไมการขุดบิตคอยน์ถึงใช้ไฟฟ้ามากขนาดนั้น? จำเป็นต้องอธิบายถึงขั้นตอนการ “ขุดบิตคอยน์” ก่อน
การได้มาซึ่งบิตคอยน์ในปัจจุบัน ถ้าคุณไม่จ่ายเงินซื้อ อีกวิธีหนึ่งก็คือ ‘ขุด’ ด้วยตัวเอง โดยการขุดนั้น วิธีจริงๆคือ ไปแก้โจทย์สมการของระบบ Blockchain ถ้าหากคอมพิวเตอร์เครื่องใดในโลก ไขสมการได้สำเร็จก่อนเครื่องอื่น จะได้รางวัลเป็นบิตคอยน์ใหม่ ซึ่งในปัจจุบันนักขุดจะได้รับราว 6.25 บิตคอยน์/บล็อก และหากอิงราคาในปัจจุบัน นั่นมีมูลค่ามากกว่า 9.75 ล้านบาท
ปัจจุบัน คนแห่กันมาขุดมากขึ้นจนเหลือเหรียญบิตคอยน์ในระบบให้ขุดอีกแค่ 2.5 ล้านเหรียญเท่านั้น นั่นแปลว่าระบบอัลกอริทึ่ม จะยิ่งสร้างโจทย์ที่ยากขึ้นไปอีก
การแก้โจทย์สมการดังกล่าว จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการประมวลผล แปลว่าเมื่อทั้งโลกแข่งขันกันแบบนี้ ก็ยิ่งมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เพียงเพื่อสำหรับขุดบิตคอยน์อย่างเดียวเท่านั้น
จริงอยู่ มีคนออกมาอธิบายว่าการขุดบิตคอยน์ ใช้พลังงานเยอะก็จริง แต่ก็มีคำอธิบายว่า พลังงานที่ใช้ไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กทิ้งไว้แต่ไม่ได้ใช้งานของคนอเมริกัน ยังสิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าการขุดบิตคอยน์เสียอีก
อย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขุดบิตคอยน์ ก็ยังใช้พลังงานมหาศาลอยู่ดี แม้จะมีคนบอกว่า ทุกวันนี้การขุดบิตคอยน์ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็ตรวจสอบไม่ได้หรอก ว่าพลังงานที่ใช้นั้นมาจากไหน
ข้อมูลเปิดเผยว่า ประเทศจีนเป็นพื้นที่ที่การขุดบิตคอยน์มากกว่าประเทศอื่นๆ และ 2 ใน 3 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อขุดบิตคอยน์ ก็มาจากถ่านหิน
ดังนั้นบัญญัติไตรยางค์คือ เมื่อขุดบิตคอยน์มากๆ ก็ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้ามาจากถ่านหิน และการใช้ถ่านหินส่งผลให้โลกแปดเปื้อนไปด้วยมลภาวะ
ความเห็น 2 ฝั่ง
ฝั่งที่ต่อต้านการขุด มีไม่น้อย ตัวอย่างเช่น งานวิจัยจากสถาบัน Oak Ridge ในโอไฮโอ เปิดเผยว่า การขุดบิตคอยน์มูลค่า 1 ดอลลาร์ ใช้พลังงานราว 17 เมกะจูล ซึ่งมากกว่าพลังงานที่ใช้ในการขุดทองแดง, ทองคำ และทองคำขาวกว่า 2 เท่า
ส่วนอีกหนึ่งงานวิจัยของอังกฤษระบุว่า พลังงานที่ใช้ในการขุดบิตคอยน์ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 4 เท่า และการขุดบิตคอยน์ทำให้บางพื้นที่มีปัญหาเรื่องการใช้ไฟฟ้าไม่พอเพียงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่สนับสนุนการขุดก็มีไม่น้อย ตัวอย่างเช่น เรีย บูโทเรีย ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยของ Fidelity Digital Assets กล่าวว่า “บิตคอยน์จะไม่สามารถบรรลุหน้าที่ของมัน ในฐานะระบบจัดเก็บสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดในโลกได้ ถ้าไม่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่ดีพอ”
ขณะที่มหาเศรษฐีจากการลงทุนในบิตคอยน์ ไทเลอร์ วิงเคิลวอสส์ ทวีตข้อความว่า “คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนก็ปล่อยคาร์บอนมากกว่าเครื่องพิมพ์และโทรเลขมาก บางครั้งเทคโนโลยีก็สำคัญต่อมนุษยชาติมากจนสังคมต้องยอมรับว่าจะต้องแลกเปลี่ยนบางอย่างไป”
ผู้ที่สนับสนุนการขุด ระบุว่า สิ่งแวดล้อมอาจเสียหายไปบ้าง แต่การได้มาซึ่งบิตคอยน์ก็คุ้มค่าหากเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกันแล้ว
ความเห็นอีกมุม สองด้านไปด้วยกันได้
แม้กระแสของโลกจะแบ่งฝั่งเป็น ฝั่งรักสิ่งแวดล้อม กับฝั่งอยากขุดบิตคอยน์ แต่ก็มีความเห็นบางส่วนที่ชี้ว่า เราไม่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้สร้างเงินอีเทอเรียม ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองรองจากบิตคอยน์ ได้สัญญาว่าจะเปลี่ยนอัลกอริทึมของสกุลเงิน เพื่อให้การขุดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
วิตาลิค บูเตริน ผู้คิดค้นอีเทอเรียม กล่าวว่า “การขุดคริปโทเคอร์เรนซี่อาจทำให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมหาศาล แม้คุณไม่เชื่อว่ามลพิษและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปัญหาก็ตาม แต่มีผู้บริโภคและผู้คนที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้จริงๆ แต่ไฟฟ้ากลับถูกดึงไปใช้กับการขุดคริปโทฯ แทน”
การขุดอีเทอเรียมคล้ายกันกับการขุดบิตคอยน์ ที่คอมพิวเตอร์ต้องแข่งขันเพื่อให้ทำธุรกรรมให้เสร็จก่อน ดังนั้นคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังที่สุดจึงมีความได้เปรียบในการรับเหรียญมากที่สุด
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วย นักพัฒนาของอีเทอเรียมกำลังเปลี่ยนระบบขุดปกติ มาใช้การขุดแบบ pool ทำการสุ่มเลือกนักขุดเพื่อให้ทำธุรกรรมให้สำเร็จ จากนั้นจะได้รับอีเทอเรียมเป็นการตอบแทน ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า proof-of-stake โดยได้รับการยืนยันว่าเป็นวิธีขุดเหรียญที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลง
ดังนั้นสำหรับเทรนด์ของคริปโทฯ ในอนาคตต่อจากนี้ จึงมีการวิเคราะห์กันว่า เหรียญใดก็ตาม ที่มีวิธีการขุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเท่านั้น
ขณะที่อีลอน มัสก์ ในวันนี้เขาประกาศไม่รับเรียนบิตคอยน์ ในการซื้อเทสลาก็จริง แต่เจ้าตัวยังไม่ได้ตัดขาดจากวงการคริปโทฯ กระแสในโลกออนไลน์วิจารณ์ว่าเขาอาจจะหยิบเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นแค่ข้ออ้างเท่านั้น แต่จริงๆ อาจจะอยากกระโดดไปเล่นเหรียญอื่นก็ได้
และแน่นอน สำหรับผู้บริโภคอย่างเราก็ไม่มีทางคาดเดาคนอัจฉริยะอย่างอีลอน มัสก์ได้เลย วันดีคืนดี เขาจะหวนกลับมารักบิตคอยน์อีกครั้งก็ได้ ใครจะรู้
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก workpointtoday