เทรนด์การดำเนินธุรกิจในอนาคต หลายกลุ่มธุรกิจวางแผนเรื่องการสร้างกำไร และเม็ดเงินมหาศาล เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนบางครั้งอาจมองข้าม การสร้างความยั่งยืน หรือเรียกว่า ‘Sustainable Business’ ยิ่งมีกำไรมากขึ้น ยิ่งต้องหันกลับมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น เพราะธุรกิจนั้น ต้องใช้พลังงานและทรัพยากรต่างๆ มากมาย เมื่อได้กำไรมาก็ต้องตอบแทนในทุกๆ ส่วนที่มีส่วนที่ทำให้ ธุรกิจของเราขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้
ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ชุมชน หรือสังคมโดยรวม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและสร้างรากฐานที่แข็งแรง เป็นการดำเนินธุรกิจที่สังคมและสิ่งแวดล้อมเติบโตไปพร้อมกับองค์กร ทั้งเพื่อวันนี้และเพื่อคนรุ่นต่อไป ได้ใจลูกค้า ได้ใจสังคม และยังช่วยสร้างความมั่นคงและกำไรในระยะยาว
ทำไม Sustainable Business ถึงจำเป็น และต้องทำ
คงไม่ต้องเท้าความเรื่องประเด็นโลกร้อนว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนขนาดไหน และนั่นเป็นเพียงหนึ่งในแกนสำคัญที่ผลักดันให้เกิด Sustainable Business ทว่า มิติของการสร้างความยั่งยืนยังลึกและกว้างกว่านั้น เพราะความยั่งยืนทางธุรกิจหมายรวมถึงการดำเนินการใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาในอนาคต หากมองแต่กำไรระยะสั้นโดยขาดความใส่ใจต่อผลกระทบที่สังคมโดยรวมจะได้รับ ก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคจะเริ่มต่อต้านธุรกิจนั้น จนส่งผลให้ธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อได้
รายงานเรื่อง The trailblazing consumers in Asia propelling growth ของ McKinsey Global Institute หรือ MGI ได้สำรวจแรงขับเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงตลาดการบริโภคของเอเชีย พบว่า ผู้บริโภคชาวเอเชียให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ผู้บริโภคทั่วทั้งภูมิภาคเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้น
รวมถึงผลสำรวจ ASEAN Consumer Sentiment Study ของกลุ่มธนาคารยูโอบี* ที่พบว่า 6 ใน 10 ของผู้บริโภคชาวไทยสนับสนุนแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งยังเริ่มทดแทนสินค้าที่ใช้อยู่เดิมด้วยสินค้าทางเลือกอื่นๆ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนมากกว่า และกว่าครึ่งของผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้น เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยคำนึงถึงความยั่งยืนอีกด้วย
ยิ่งถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการรายย่อย แค่จะลงแข่งในสนามที่มีผู้เล่นรายใหญ่ก็หนักหน่วงแล้ว และเกินกว่าครึ่งต้องยอมแพ้แค่เพราะไม่มีเงินทุนขับเคลื่อนธุรกิจ แต่เรากำลังจะบอกว่า การทำ Sustainable Business จะช่วยคุณได้ เพราะไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจเท่านั้นจะเป็นผู้เล่นคนสำคัญ สถาบันการเงินเองก็ตื่นตัวและพร้อมสนับสนุนอย่างมาก จนเกิด Sustainable Banking หรือการธนาคารเพื่อความยั่งยืนขึ้น
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจโดยตรงคือ จากนี้ไปธนาคารจะจัดสรรการเงินและผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงให้กับโครงการและธุรกิจที่ไม่บั่นทอนสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสังคม และมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ Refinitiv บริษัทที่ให้บริการข้อมูลด้านการเงินระดับโลก ระบุว่า สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของธนาคารต่างๆ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 321,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 3 เท่าตัว
คุณพอจะเห็นภาพแล้วใช่หรือไม่ ถ้าวันนี้ธุรกิจของคุณไม่กระโดดลงมาร่วมวง Sustainable Business ผู้บริโภคอาจไม่เลือกคุณและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็อาจจะเริ่มยากยิ่งขึ้น ว่าด้วยเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ต้องสร้างสมดุลระหว่างรายได้ ดูแลสังคม และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ไม่แน่นะว่า ตอนนี้ธุรกิจของคุณอาจมีบางมิติที่เข้าข่าย Sustainable อยู่แล้วก็ได้ เพราะถ้าลองหาข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการทำธุรกิจที่ยั่งยืน เราจะพบคีย์เวิร์ดหลักๆ ได้แก่ Sustainable Development Goals: SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือไม่ก็ ESG (Environmental, Social and Governance) หรือกรอบการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และ Triple Bottom Line แนวทางการดำเนินธุรกิจที่เกาะแกน People, Profit และ Planet
Sustainable Development Goals
สังเกตว่า มิติของความยั่งยืนที่อยู่ในใจความสำคัญของทั้ง 3 หลักการ ไม่ได้มุ่งเน้นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยกตัวอย่าง SDGs มุ่งเน้นการพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน นั่นคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ 17 เป้าหมาย ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่
คนและสังคม (People) เป้าหมายคือ ขจัดความยากจน ยุติความหิวโหย สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม และความเท่าเทียมทางเพศ
ความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Prosperity) เป้าหมายคือ พลังงานสะอาดและเข้าถึงได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ดี อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ลดความเหลื่อมล้ำ เมืองและชุมชนยั่งยืน
- สิ่งแวดล้อม (Planet) เป้าหมายคือ การเข้าถึงน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค บริโภค และสุขอนามัย การผลิตและบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร และระบบนิเวศบนบก
- สันติภาพและความสงบสุข (Peace) เป้าหมายคือ สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
- หุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) เป้าหมายคือ การร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ธุรกิจของคุณอาจเริ่มต้นสร้างความยั่งยืนในมิติของความเท่าเทียมทางเพศก็ได้ การศึกษาแบบเปิดสำหรับธุรกิจที่ดำเนินการโดย Boston Consulting Group เผยข้อมูลจาก 96 บริษัทที่เติบโตเร็วที่สุด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในตลาดเกิดใหม่ พบว่า บริษัทที่มีนโยบายสนับสนุนเปิดรับ LGBT+ มักจะดึงดูดและรักษาผู้มีความสามารถระดับสูงได้ดีด้วยการสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย สนับสนุนความแตกต่าง และไม่เลือกปฏิบัติ
หรือในมิติของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในองค์กรอย่าง แดรี่โฮม ที่ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบริหารด้านทรัพยากรบุคคลยังส่งต่อความยั่งยืนของธุรกิจแดรี่โฮม อาทิ ให้ความสำคัญกับการจ้างงานในชุมชน พนักงานของแดรี่โฮมจึงเป็นคนท้องถิ่นถึง 80% รวมถึงการให้คุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข อาทิ จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ มอบผลิตภัณฑ์ฟรีแก่บุตรหลาน สนันสนุนพนักงานเป็นผู้ประกอบการทำสินค้ามาฝากขายที่หน้าร้านได้
มองมุมกลับ มิติเหล่านี้จะส่งผลต่อการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างไร ยกตัวอย่าง Sivatel โรงแรมใจกลางเมืองที่จริงจังกับเรื่องการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ตั้งแต่การสนับสนุนวัตถุดิบประกอบอาหารจากเกษตรกรท้องถิ่น และนำขยะเศษอาหารส่งกลับไปให้ฟาร์มเพื่อเป็นอาหารให้กับสัตว์ในฟาร์ม รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีความสุขให้กับพนักงานบนความเชื่อที่ว่า ธุรกิจโรงแรมสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมและเกื้อกูลสังคมรอบตัวได้
จะเห็นว่าการดำเนินธุรกิจที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นได้ประโยชน์และสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานและผู้บริโภค ก็ช่วยให้ธุรกิจได้คะแนนเสริมจากสถาบันการเงินได้แล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อในปัจจุบัน
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก thestandard