จับตาทัวร์ท่องอวกาศ กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมตั้งคำถามต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หลังบริษัทยักษ์ใหญ่หลายค่ายเดินหน้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศกันอย่างสุดตัว
- ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการปล่อยตัวของจรวดแต่ละครั้งจะสร้างก๊าซเรือนกระจกมหาศาล โดยการเดินทางท่องอวกาศ 400 เที่ยวต่อปี เป็นระยะเวลา 40 ปี จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากพอ ที่จะทำให้อุณหภูมิในทวีปอาร์กติกเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส
- แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องอวกาศจะเล็กกว่าอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์หลายเท่า แต่การที่จรวดถูกปล่อยขึ้นไปในแนวดิ่งจะทำให้สามารถปล่อยมลพิษในชั้นบรรยากาศแต่ละชั้นได้โดยตรง จึงแตกต่างจากการบินเครื่องบินพาณิชย์โดยสิ้นเชิง
ที่ผ่านมาทั้งบริษัทบลู ออริจิน สเปซเอ็กซ์ และเวอร์จินกาแลคติก ต่างนำเสนอทริปท่องเที่ยวอวกาศ สำหรับบรรดามหาเศรษฐี ผู้ที่มีทุนทรัพย์มากพอ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักบินอวกาศที่ผ่านการฝึกจากรัฐบาลมาก่อน ซึ่งคาดว่าหลังจากที่การเดินทางนำร่องประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอวกาศหลังจากนี้ จะยิ่งทวีความดุเดือดในการแข่งขัน และจะเริ่มเพิ่มความถี่ในการออกเดินทางมากขึ้นในแต่ละปี อย่างที่บริษัทเวอร์จิน กาแลคติก ประกาศไว้ว่า ทางบริษัทมีแผนที่จะขยายเที่ยวบินออกไปให้ถึงหลักร้อยเที่ยวต่อปี ท่ามกลางความกังวลของผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า การปล่อยตัวของจรวดแต่ละครั้งจะสร้างก๊าซเรือนกระจกมหาศาล ทั้งๆ ที่ทั่วโลกกำลังหาทางแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนกันอยู่
หนึ่งในโมเดลที่มีการตีพิมพ์ในนิตยสาร อเมริกัน จีโอฟิสิคัล ยูเนียน ระบุว่า การเดินทางท่องอวกาศ 400 เที่ยวต่อปี เป็นระยะเวลา 40 ปี จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากพอ ที่จะทำให้อุณหภูมิในทวีปอาร์กติกเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จากที่มีการประเมินไว้อยู่แล้ว
ศาสตราจารย์ ดาริน ทูฮี ศาสตราจารย์ด้านบรรยากาศศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ หนึ่งในทีมวิจัยดังกล่าวระบุว่า สิ่งที่ค้นพบทำให้เกิดความกังวลค่อนข้างมาก เพราะมันส่งผลต่อภาวะอากาศเปลี่ยน จากเดิมที่มนุษย์มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แม้ในเวลายังมีงานวิจัยจำนวนน้อย ที่ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการท่องเที่ยวอวกาศ แต่ผู้เชี่ยวชาญก็สามารถประเมินได้จากเชื้อเพลิงที่ใช้ในการปล่อยจรวด และคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเกิดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงนั้น
ศาสตราจารย์ทูฮีระบุว่าเขาค่อนข้างกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของคาร์บอน เหมือนกับที่สเปซเอ็กซ์ที่ใช้เชื้อเพลิงเคโรซีน(น้ำมันก๊าด)และออกซิเจนเหลว และเวอร์จิน กาแลคติกที่ใช้สสารใหม่ที่ทำจากเม็ดพลาสติกไนลอน และไนตรัสออกไซด์ เพราะเชื้อเพลิงเหล่านี้จะสร้างอนุภาคคาร์บอน หรือผงฝุ่นคาร์บอนออกมาเมื่อมีการเผาไหม้ โดยอนุภาคคาร์บอนเหล่านี้จะเป็นตัวสร้างปัญหา เพราะมันมีการสะท้อนกับแสงอาทิตย์ และจะทำให้ชั้นบรรยากาศชั้นบนร้อนขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทเวอร์จิน กาแลคติก และสเปซเอ็กซ์ยังไม่ได้ยืนยันหรือให้ความเห็นตอบโต้ต่อประเด็นนี้แต่อย่างใด
ขณะที่บลู ออริจิน ระบุว่า จรวดที่จะนำแคปซูล นิว เชพพาร์ดขึ้นสู่อวกาศ จะใช้เชื้อเพลิงที่เป็นออกซิเจนเหลว และโฮโดรเจน ดังนั้นในระหว่างการเดินทางท่องอวกาศ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงของแคปซูลจะเป็นเพียงไอน้ำ และไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนแต่อย่างใด
เอลัวส์ มาไรส์ ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ระบุว่า แม้จะเป็นเพียงไอน้ำ แต่ก็ยังสามารถเป็นตัวเร่งให้ชั้นบรรยากาศอุ่นขึ้นได้เช่นกัน โดยไอน้ำจะทำให้เกิดการรวมตัวของเมฆในชั้นบรรยากาศชั้นบน ซึ่งเป็นชั้นที่ไม่ค่อยมีการก่อตัวของเมฆ และนั่นจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ เพราะจะไปเปลี่ยนแปลงปริมาณของแสงอาทิตย์ที่จะสะท้อนหรือส่องลงมาสู่โลก
มาไรส์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า การเดินทางท่องอวกาศทุกประเภทจะสร้าง ไนโตรเจนออกไซด์ หรือ NOx จากอุณหภูมิความร้อนสูงที่จะย้อนกลับสู่ชั้นบรรยากาศ โดย NOx จะมีศักยภาพสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 300 เท่าในชั้นบรรยากาศที่อุ่นขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่นักวิจัยกำลังเริ่มรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากการปล่อยจรวดของบริษัทเอกชนหลายๆบริษัทอยู่ในเวลานี้ แต่ก็ยังเป็นการยากที่จะประเมินผลกระทบที่ชัดเจนได้ หากยังไม่ทราบถึงจำนวนเที่ยวบินที่ชัดเจนว่าจะมีกี่เที่ยวบินต่อปี โดยข้อมูลที่มีในเวลานี้คือข้อมูลจากบริษัทเวอร์จิน กาแลคติก ที่นายริชาร์ด แบรนสัน เคยระบุก่อนหน้านี้ว่าตั้งเป้าที่จะให้บริการเที่ยวบินท่องอวกาศราว 400 เที่ยวต่อปี ขณะที่ทั้งบลูออริจินและสเปซเอ็กซ์ ยังไม่มีการระบุข้อมูลที่แน่ชัดแต่อย่างใด
ศาสตราจารย์มาไรส์ ยังระบุด้วยว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องอวกาศจะเล็กกว่า อุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ในปัจจุบันหลายเท่า แต่การที่จรวดถูกปล่อยขึ้นไปในแนวดิ่ง จะทำให้สามารถปล่อยมลพิษในชั้นบรรยากาศแต่ละชั้นได้โดยตรง จึงแตกต่างจากการบินเครื่องบินพาณิชย์โดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม การที่จะระบุข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากทัวร์ท่องเที่ยวอวกาศได้ จำเป็นที่จะต้องศึกษาวิจัยหาข้อมูลเพิ่มเติม และเมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว จึงจะสามารถแนะนำแนวทางที่เหมาะสมในการวางนโยบาย หรือกฎข้อบังคับต่างๆในการเดินทางท่องอวกาศ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ติดตามข่าวสารและบทความเกี่ยวกับ The Sustain – ธุรกิจและความยั่งยืน พลังงาน ภาวะโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ