ภัยแล้ง เคปทาวน์ : การตัดต้นไม้เพื่อรักษาเมืองให้รอดพ้นจากภัยแล้งอาจดูเหมือนไม่ใช่แผนการที่น่าจะเป็นไปได้ แต่นี่คือสิ่งที่เมืองเคปทาวน์ของแอฟริกาใต้ได้เริ่มทำ หลังจากประสบวิกฤตขาดแคลนน้ำ และกลายเป็นเมืองใหญ่ระดับโลกแห่งแรกที่เข้าใกล้วันที่น้ำจะหมดไปจากเมือง
ภัยแล้ง เคปทาวน์
เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่เคปทาวน์เข้าใกล้วันอันตรายที่ถูกเรียกว่า “เดย์ซีโร” (Day Zero) ซึ่งเป็นวันที่ผู้อยู่อาศัยราว 4 ล้านคนในเมืองจะไม่มีน้ำใช้ วิกฤตนี้เกิดขึ้นจากภัยแล้งที่รุนแรงและคาดไม่ถึง ทำให้อ่างเก็บน้ำทุกแห่งในประเทศแห้งขอด
ขณะนี้ ทางการได้ส่งทีมงานหลายสิบทีมพร้อมเลื่อยไฟฟ้าออกไปปฏิบัติการรักษาอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ด้วยวิธีการที่ไม่ค่อยมีใครทำกัน นั่นก็คือ การตัดต้นไม้หลายหมื่นต้นบนภูเขาที่อยู่ล้อมรอบอ่างเก็บน้ำเหล่านั้นทิ้ง นี่เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก และยังดูขัดกับการต่อสู้กับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแปลกประหลาดด้วย บนภูเขาแห่งหนึ่ง คนงาน 2 คน กำลังใช้เชือกไต่หุบเหวลึกเพื่อตัดต้นสนจำนวนมากในบริเวณนั้นจนเหลือแต่ตอ
ต้นไม้ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นี้แต่เดิม ใช้น้ำปริมาณ 3 เดือน ของน้ำที่บริโภคทั้งปีของเมืองเคปดาวน์
“ต้นสนไม่ใช่พันธุ์ไม้ท้องถิ่นของพื้นที่นี้ พวกมันดูดน้ำไปใช้มากกว่าต้นไม้พื้นเมืองของที่นี่อย่างมาก นี่คือโครงสร้างระบบนิเวศที่เราจำเป็นต้องแก้ไข” นโกซินาทิ นามา ซึ่งเป็นตัวแทนของกองทุนน้ำเมืองเคปทาวน์มหานคร (Greater Cape Town Water Fund) อธิบาย
ต้นสนซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ต่างถิ่นถูกนำเข้ามาในภูมิภาคนี้เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมไม้ในช่วงแรก ต่อมามันได้แพร่ขยายอย่างรวดเร็วไปตามภูเขาต่าง ๆ เบียดต้นไม้ประจำถิ่นซึ่งทนแล้งและใช้น้ำน้อยกว่าในพื้นที่กักเก็บน้ำของเคปทาวน์
ต้นสนและต้นไม้สายพันธุ์ต่างถิ่นอีกหลายชนิดอย่างยูคาลิปตัส ใช้น้ำราว 55,000 ล้านลิตรต่อปี เทียบเท่ากับปริมาณการบริโภคน้ำ 2-3 เดือนของน้ำที่ใช้ทั้งปีในเมือง
“หนึ่งในบทเรียนของ เดย์ ซีโร คือ จำเป็นต้องฟื้นฟูและกอบกู้พื้นที่กักเก็บน้ำของเรา เพื่อให้พื้นที่เหล่านี้กลับมาเหมือนเดิม” เขากล่าว
“ผู้คนหวาดกลัว” โครงการ 5 ปีในระยะแรกเป็นเพียงหนึ่งในการรับมือวิกฤตน้ำในปี 2018 ของเมืองเคปทาวน์ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์และผู้บริหารพยายามที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์
นอกจากการปกป้องและเพิ่มความหลากหลายของแหล่งน้ำในเมือง รวมถึงการเจาะเข้าไปที่ชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินและติดตั้งโรงงานแยกเกลือออกจากน้ำ ผู้เชี่ยวชาญยังได้ศึกษาถึงการรับมือของมนุษย์ต่อความเสี่ยงของ “เดย์ซีโร” ในแง่ของการใช้น้ำด้วย
“เราประเมินความสามารถของพลเมืองต่ำเกินไปในการปรับตัวต่อวิกฤต” ดร.เควิน วินเทอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยเคปทาวน์ (University of Cape Town) กล่าว
เขาชี้ว่า การบริโภคน้ำของเมืองลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในช่วงเวลาเพียง 3 สัปดาห์ของต้นปี 2018 จากประมาณ 780 ล้านลิตร เหลือไม่ถึง 550 ล้านลิตรต่อวัน ก่อนที่ลดต่ำลงไปกว่านี้อีก ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือกันของประชาชน
“ประชาชนหวาดกลัวมาก…และมันทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงขึ้น” เขากล่าว
ซียาบอง มายเอซา นักกิจกรรมในท้องถิ่นจากกลุ่มจับตาสถานการณ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Monitoring Group) ในเมืองคาย์ลิตชา นอกเมืองเคปทาวน์ เห็นด้วยว่า “ความหวาดกลัวใช้ได้ผล”
“ความคิดที่ว่าน้ำจะหมด ทำให้ชาวเมืองรู้สึกเศร้าและหวาดกลัว และทางการรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดน้ำได้ผลค่อนข้างดี ทำให้เราลดการใช้น้ำลงครึ่งหนึ่ง”
“แต่ในระยะยาว เราน่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติแบบองค์รวมมากขึ้น”
ในช่วงหลายปีนับจากนั้น การใช้น้ำได้เพิ่มสูงขึ้นในเมืองเคปทาวน์ ซึ่งบางทีอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ปริมาณการใช้น้ำก็ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดในปี 2014 ซึ่งมีการใช้น้ำ 1,200 ล้านลิตรต่อวัน
ความจำเป็นที่ทำให้ชาวเมืองต้องใช้น้ำอย่างประหยัด การถูกปรับหรือเผชิญบทลงโทษต่าง ๆ ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากช่วยประหยัดน้ำจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตร เพราะแอฟริกาใต้ก็ไม่ต่างจากหลายพื้นที่ในโลกที่ 70% ของน้ำในแหล่งน้ำสำรองถูกใช้ป้อนการเกษตร
แต่เมื่อเกิดวิกฤต เกษตรกรที่อยู่รอบเมืองเคปทาวน์ต่างยินยอมหยุดใช้น้ำจากระบบชลประทานของเทศบาลเป็นเวลานานหลายเดือน
วิกฤต “เดย์ซีโร” ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงรูปแบบของสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้ในยุคของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในสิ้นปี 2018 เคปทาวน์ได้รับฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งผิดไปจากฤดูกาลปกติ
ภัยแล้ง 7 ปี แต่แม้จะมีความมั่นใจมากขึ้นว่า จังหวัดเวสเทิร์น เคป จะสามารถรับมือกับภัยแล้งในอนาคตได้ดีกว่าเดิม แต่ก็แทบไม่มีหลักฐานว่า ส่วนอื่น ๆ ของแอฟริกาใต้ได้เรียนรู้บทเรียนเดียวกันนี้
ในจังหวัดอีสเทิร์นเคปที่ยากจนกว่ามาก และเกษตรต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรับมือกับภัยแล้งที่ยาวนาน 7 ปี และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง พื้นที่อ่าวเนลสัน แมนเดลา ที่มีประชากรหนาแน่น กำลังเผชิญกับการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง โดยคนทั่วไปเห็นว่า เป็นเพราะการบริหารจัดการที่ผิดพลาดและการทุจริตนานหลายปี ตลอดจนความล้มเหลวในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับน้ำให้อยู่ในสภาพดี
“โชคดีที่ผู้บริหารเมืองเคปทาวน์แก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี พวกเขาทำทุกอย่างและ…เห็นความสำคัญของประชาชน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้นำได้ช่วยให้ประชาชนเอาชนะปัญหาได้” มคูเซลี แจ็ก นักธุรกิจและนักการเมืองฝ่ายค้านจากเมืองเกเบกเคอ กล่าว
“แต่ที่นี่ (จังหวัดอีสเทิร์นเคป) ผู้นำทำงานไม่มีประสิทธิภาพนัก จนถึงขั้นที่ประชาชนบางส่วนไม่เชื่อทุกอย่างที่นักการเมืองที่นี่พูด”
เกเบกเคอกำลังพยายามเตือนผู้คนว่า “เดย์ซีโร” ของเมืองอาจจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือน ขณะที่เมืองขนาดเล็กในจังหวัดเริ่มประสบปัญหาน้ำประปาไม่พอใช้แล้ว ในย่านที่อยู่อาศัยบางแห่ง ผู้คนต้องพึ่งพารถบรรทุกส่งน้ำที่จัดหามาให้โดยองค์กรการกุศล
เอลซี ฮานส์ วัย 53 ปี ที่อาศัยอยู่ที่เพิงแห่งหนึ่งในเมืองคราฟเรเน็ต ในจังหวัดอีสเทิร์นเคป กล่าวว่า “เราไม่มีน้ำใช้มา 2 วันแล้ว ฉันกังวลว่ามันจะแย่ลงเรื่อย ๆ เพราะ (รัฐบาล) ไม่ดูแลเรา”
“พวกเขาสร้างห้องน้ำให้เราที่นี่ แต่เราไม่ได้ใช้ เพราะไม่มีน้ำ”
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก BBC