ดีลอยท์ทยอยเปิดตัวโปรแกรมการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศสำหรับบุคลากรภายในองค์กรกว่า 330,000 คนทั่วโลกเป็นครั้งแรก โดยเริ่มใช้พร้อมกันทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2564 เป็นต้นมา
เป้าหมายของโปรแกรมนี้คือ เพื่อเป็นการให้ข้อมูล ส่งเสริม และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พนักงานของดีลอยท์ ในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกต่างกำลังเผชิญ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับดีลอยท์ได้ริเริ่มนำโปรแกรมเช่นนี้มาตอกย้ำถึงข้อเท็จจริงที่กำลังประสบ และช่วยผลักดันให้พนักงานทุกคนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ กล้าที่จะแก้วิกฤตได้อย่างมั่นใจ และพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา ไม่ว่าจะจากที่บ้าน ที่ทำงาน รวมถึงเมื่อต้องให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า
ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังปะทุอยู่นั้น โลกต้องการระบบนิเวศแห่งการลงมือทำและการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชน อันรวมไปถึงชุมชนธุรกิจและเหล่าพนักงาน ซึ่งจะสามารถเสริมกำลังและก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกันได้อย่างแข็งแกร่ง
โปรแกรมเรียนรู้ใหม่นี้ที่ดีลอยท์ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund: WWF) ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความรู้เกี่ยวกับเรื่องของสภาพภูมิอากาศ และปลูกฝังทักษะที่จำเป็นเพื่อให้ทุกคนพร้อมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรของดีลอยท์ได้เรียนรู้วิธีการที่ถูกต้องในการสู้กับวิกฤต และจุดประกายให้พวกเขาลงมือทำ
“ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น เราต้องทำความเข้าใจถึงประเด็นดังกล่าวให้ได้เสียก่อน การมีสื่อที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นการเฉพาะจะสามารถผลักดันให้ทุกคนเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องตามความจำเป็นเพื่อที่จะต่อสู้กับสิ่งที่กำลังเผชิญ” พูนิต เรนเจน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีลอยท์ โกลบอล กล่าว “โปรแกรมเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของดีลอยท์เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยปลดล็อกศักยภาพของสิ่งที่มีค่าและทรงพลังที่สุด นั่นก็คือบุคลากรของเราเอง ด้วยการให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจแก่พนักงานของดีลอยท์ทั้ง 330,000 คนทั่วโลก เราจะสามารถขับเคลื่อนการลงมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อช่วยโลกในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้”
โปรแกรมการเรียนรู้บนช่องทางดิจิทัลประกอบด้วยบทเรียนในรูปแบบของวิดีโอ ข้อมูลภาพเชิงโต้ตอบ และเรื่องราวตัวอย่างจากพนักงานของดีลอยท์ที่อุทิศตนเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศทั่วโลก พร้อมเสริมด้วยแพลตฟอร์มการเรียนรู้ระดับโลกแบบไดนามิก ที่ให้เนื้อหาเกี่ยวกับสภาพอากาศโดยครอบคลุมสื่อหลากหลายประเภท และหลังจากที่ได้เรียนรู้กันไปเป็นระยะเวลา 6 เดือนแล้ว จะถึงเวลาเดินหน้าสู่ตามเส้นทางที่ดีลอยท์ได้เริ่มดำเนินการเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างวัฒนธรรมการตระหนักรู้ถึงคุณค่าและใส่ใจในปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการลงมือทำ
“การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบทั่วโลกที่ต้องการหนทางแก้ไขร่วมกัน และเราก็เล็งเห็นถึงบทบาทขององค์กรธุรกิจ ในการเป็นชิ้นส่วนสำคัญร่วมขับเคลื่อนการแก้ไข รวมถึงพลังและการลงมือปฏิบัติของพนักงานขององค์กรธุรกิจเหล่านี้” คาร์เตอร์ โรเบิร์ตส์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลกล่าว “บริษัทชั้นนำในปัจจุบันไม่เพียงแต่ตั้งเป้าหมายตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อลดการปล่อยมลพิษและขับเคลื่อนความก้าวหน้าผ่านห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาเท่านั้น แต่พวกเขายังเดินหน้าลงมือทำผ่านการมีส่วนร่วมกับลูกค้าและพนักงาน พร้อมสร้างแรงผลักให้เกิดความก้าวหน้าทางสังคม ความคิดริเริ่มใหม่นี้เป็นใบเบิกทางให้ผู้คนหันมารับมือกับปัญหาด้านภูมิอากาศอย่างแท้จริง และเรามุ่งหวังที่จะขยายขอบเขตออกไปในวงกว้าง”
โปรแกรมนี้ต่อยอดจากโครงการด้านสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของดีลอยท์ทั่วโลกอย่าง WorldClimate ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา โดยกลยุทธ์นี้ชี้ชัดถึงความมุ่งมั่นของดีลอยท์ต่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2573 ผ่านการร่วมส่งเสริมการดำเนินงานที่ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ทั่วทุกภูมิภาค ให้ความรู้และขับเคลื่อนบุคลากรดีลอยท์ทั่วโลกในการก้าวเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเชิงรุก และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาที่จะเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างแท้จริง
“ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจต่างๆ จะต้องเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงาน ถ้าบริษัทประสงค์ที่จะสร้างมูลค่าที่มีความยั่งยืนในระยะยาวเพื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มแล้ว พวกเขาจะต้องใช้โอกาสที่มีในการทำหน้าที่ของตนเพื่อสร้างอนาคตที่มีความเท่าเทียมและยั่งยืน การมีสื่อเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วทั้งองค์กรจะทำให้ธุรกิจสามารถรังสรรค์วัฒนธรรมแห่งความยั่งยืนและปลูกฝังการคิดที่คำนึงถึงสภาพอากาศเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานได้” พูนิต เรนเจน กล่าวเสริม