จากกระแสการเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่เกิดเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้บรรดาแฟชั่นเฮาส์ชั้นนำพากันตั้งคำถามกับตัวเองถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ และสิ่งแวดล้อมของโลก เนื่องจากอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอเป็นธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นของบรรยากาศราว 10% ต่อปี ผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้อาจจะมองว่าสินค้าราคาหลักหมื่นหลักแสนจะมีค่าอะไรไปมากกว่าเป็นหนึ่งในตัวการทำร้ายโลกที่มาพร้อมกับค่าตัวอันสูงลิ่ว … Mulberry จึงออกถ้อยแถลง ‘Made to Last’ ในโอกาสครบรอบ 50 ปี เพื่อเผยถึงความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจไปสู่โมเดลการคืนสภาพและการหมุนเวียน โดยจะครอบคลุมขั้นตอนการผลิตทั้งหมดตั้งแต่ในฟาร์มไปจนถึงมือผู้บริโภคภายในปีค.ศ. 2030
จากผลการศึกษาในช่วงปีค.ศ. 2001 – 2015 โดย The World Resources Institute แสดงให้เห็นว่ามีการทำลายป่าโดยอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกมากถึง 36% เป็นปัจจัยที่ทำให้สัตว์บางสายพันธ์ุศูนย์พันธุ์และเป็นสาเหตุสำคัญในการก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน ทว่าทาง Mulberry เชื่อว่าการเลี้ยงอย่างถูกวิธีตามวิถีทางธรรมชาติต่างหากคือสิ่งที่จะช่วยลดมลพิษจากการปศุสัตว์ได้ อีกทั้งจากการศึกษาโดย The Rodale Institute ผู้บุกเบิกด้านวิจัยการเกษตรแบบออแกนิกและการคืนสภาพกล่าวว่า “สำหรับการทำฟาร์มในแบบต่าง ๆ การเลี้ยงสัตว์บนทุ่งหญ้า (pasture-based livestock) จะมีศักยภาพในการช่วยลดคาร์บอนได้”
Mulberry ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนังตั้งแต่ต้นจนถึงหลังการขาย และเป็นสาเหตุที่ทางแบรนด์พยายามในการเป็นผู้นำที่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นและการบริหารซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพ ‘จากฟาร์มสู่สินค้า’ ด้วยความโปร่งใส โดยร่วมงานกับเหล่าเกษตกรผู้ยืนหยัดในการรักษาสภาพดินและความหลากหลายทางชีวมวล นอกจากนี้ยังมีการนำนวัตกรรมมาใช้ทดแทน อาทิ การนำเอาไนลอนรีไซเคิลและฝ้ายออแกนิกที่ได้รับการปลูกทดแทนมาใช้ในการผลิตสินค้า ตลอดจนการลดผลกระทบเชิงลบที่จะส่งผลธรรมชาติผ่านการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์
ความพยายามในการเปลี่ยนโรงงานให้เป็นสถานที่อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นสิ่งที่ Mulberry ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เริ่มต้นจากการก่อตั้งที่ให้ความสำคัญกับผู้คนในชุมชน และให้โรงงานในเมืองซอมเมอร์เซ็ทผลิตสินค้าได้จำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิตทั้งหมด ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ได้ชดเชยปริมาณคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ทุกคนที่ทำงานในโรงงานจะได้รับค่าจ้างตามค่าครองชีพที่แท้จริง และจะทำให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม โดยการร่วมมือกับโรงงานฟอกหนังชั้นนำเพื่อพัฒนาการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนออกมาน้อยที่สุดในโลก อีกทั้งยังผลักดันให้ผู้ร่วมประกอบการทั้งหมดตระหนักและมุ่งมั่นที่จ่ายค่าจ้างตามค่าครองชีพเช่นเดียวกัน จากความพยายามดังกล่าวทำให้ในปี ค.ศ. 2021 นี้ทางแบรนด์ได้เปิดตัวกระเป๋า ‘farm to finished product’ สำเร็จเป็นครั้งแรก และจะกลายเป็นโมเดลต้นแบบให้พาร์ทเนอร์ได้ดำเนินการตาม อีกทั้งยังเป็นรากฐานให้แก่การดำเนินการในอีก 50 ปีข้างหน้า พร้อมความมุ่งมั่นในการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยแก๊สคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปีค.ศ. 2035
Mulberry ต้องการให้ทุกคนรักษากระเป๋าเพื่อส่งต่อให้แก่คนรุ่นถัดไป และเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อทุกคน จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง ‘Mulberry Exchange’ ผ่านทางหน้าร้านและแฟลตฟอร์มดิจิทัล สินค้าทุกชิ้นจะได้รับการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเพื่อรอเจ้าของรายใหม่ เพราะหากวันหนึ่งที่คุณเบื่อกระเป๋าใบเดิมแล้ว ทาง Mulberry พร้อมที่จะซื้อกลับมาและนำเข้าสู่ระบบของบริษัท ‘Muirhead’ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องหนังชาวสก็อตแลนด์ (Scottish Leather Group) เพื่อนำกลับมาชุบชีวิตให้เป็นกระเป๋าใบใหม่ แพลตฟอร์มนี้เปิดตัวในบูติคของ Mulberry เมื่อปีค.ศ 2020 ที่ผ่านมา และเข้าสู่ระบบดิจิทัลบนเว็บไซต์ mulberry.com เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ควบคู่ไปกับการร่วมเป็นพันธมิตรกับ Vestiaire Collective เพื่อให้การขายต่อแบบรีเซลกลายเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์การหมุนเวียนอย่างไม่สิ้นสุด (Source: ellethailand.com /Photo : Mulberry)